xs
xsm
sm
md
lg

ท่าเรือฯ มาบตาพุดระยะที่ 3 คืบ รอ สผ.พิจารณา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ระยอง - โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 หลังรับฟังความคิดเห็นครบ 3 ครั้ง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเสนอให้ สผ.พิจารณา ก่อนให้กรมเจ้าท่าพิจารณาเห็นชอบ

นายวิฑูรย์ อยู่ทิม รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการฯ ตามแผนที่กำหนดไว้มาสเตอร์แพลนเมื่อปี 2527 โดยเริ่มดำเนินการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 1 แล้วเสร็จในปี 2535 และระยะที่ 2 แล้วเสร็จในปี 2542

สำหรับระยะที่ 3 เริ่มดำเนินการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียให้ครอบคลุม ประการสำคัญโรงงานอุตสาหกรรม ท่าเรืออุตสาหกรรมจะอยู่ร่วมกับชุมชนในพื้นที่ได้ ครั้งที่ 1 จัดทำไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 โดยประชาชนให้ความสนใจร่วมแสดงความคิดเห็น ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยต่อโครงการฯระยะที่ 3 และมีกระแสออกมาต่อต้าน เจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจ พร้อมดำเนินการจัดประชุมกลุ่มย่อยโดยเฉพาะกลุ่มประมงในพื้นที่และกลุ่มที่อยู่บนฝั่งในรัศมีมากกว่า 5 กม. อย่างครบถ้วน และได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 เมื่อเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 58 และครั้งที่ 3 เมื่อเดือนเมษายน 59 ที่ผ่านมา

ซึ่งผลการตอบรับเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก กระแสต่อต้านลดน้อยลง ซึ่งก็มีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เห็นด้วยด้วยทั้งหมด โดยมีเงื่อนไขเสนอมาว่า ให้จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือกลุ่มประมง ให้ดูแลรักษาสภาพแวดล้อมในช่วงระหว่างดำเนินการขุดลอก ซึ่งอาจจะทำให้น้ำทะเลขุ่น ให้ดูแลสุขภาพของประชาชนและการประกอบอาชีพของชาวประมง

รวมทั้งกลุ่มที่อยู่บนฝั่ง ซึ่งทุกข้อเสนอจากการรับฟังความคิดเห็นจากทุกกลุ่มนั้นได้ดำเนินการจัดทำบันทึกในอีไอเอ และอีเอชไอเอ เสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนส่งแวดล้อม (สผ.) และคณะผู้ชำนาญการได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ จากนั้นได้นำความเห็นชอบของ สผ.เสนอให้กรมเจ้าท่า อนุญาต ซึ่งกรมเจ้าท่า ก็จะต้องจัดทำประชาพิจารณ์ และรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง ซึ่งจะต้องจัดทำรายละเอียดของโครงการฯ ออกแบบให้เป็นไปตามข้อคิดเห็นของทุกกลุ่ม และชุมชนในพื้นที่ตามที่เสนอมา

สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 บนพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ ดำเนินการขุดลอกร่องน้ำเดินเรือ และแอ่งกลับเรือ โดยการนำดินทรายมาถมทะเลด้านหลังท่า ทำให้มีพื้นที่ประมาณ 550 ไร่ มีความยาวหน้าท่ารวมประมาณ 2,200 เมตร และมีพื้นที่ด้านหลังท่าอีกประมาณ 450 ไร่ จะทำเป็นบ่อกักเก็บตะกอนดินเลนในระหว่างการถมพื้นที่ โครงการฯประกอบด้วย ท่าเรือของเหลว ท่าเรือก๊าซ ท่าเรือบริการ พื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมด้านพลังงาน และเขื่อนกันคลื่น ดังนั้น กรณีการถมทะเลเกินกว่า 300 ไร่ เข้าข่ายประเภทโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง จึงต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอีไอเอ และอีเอชไอเอ
กำลังโหลดความคิดเห็น