xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊กกรมปศุสัตว์ลงสำรวจที่ดิน ส.ป.ก.กาญจน์ ยึดคืนจากผู้ครอบครองโดยมิชอบ ปรับเป็นทุ่งเลี้ยงแพะ (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กาญจนบุรี - อธิบดีกรมปศุสัตว์ ลงพื้นที่เมืองกาญจนบุรี สำรวจที่ ส.ป.ก.แปลงที่ 14 เนื้อที่ 1,263 ไร่ ที่ ส.ป.ก.กาญจนบุรี ยึดคืนจากผู้ครอบครองที่ดินมากกว่า 500 ไร่ขึ้นไป ตามคำสั่ง คสช.ที่ 36/2559 เพื่อปรับเป็นทุ่งเลี้ยงแพะ พร้อมประสาน ททท.ดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ชูศักยภาพจากสินค้าจากเนื้อแพะ และนมแพะในรูปแบบสหกรณ์ ด้านสำนักพัฒนาพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน เผยปรับพื้นที่ได้แล้ว 500 ไร่ คาดสิ้นเดือน ต.ค.แล้วเสร็จ



วันนี้ (8 ต.ค.) นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมคณะ เดินทางมาสำรวจพื้นที่ที่ดินแปลงที่ 14 เนื้อที่จำนวน 1,263 ไร่ ตั้งอยู่ริมถนนสาย 323 กาญจนบุรี-ไทรโยค หมู่ 5 ต.สิงห์ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ที่ทาง นายวัชรินทร์ วากะมะนนท์ ปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) กาญจนบุรี ยึดคืนจากผู้ครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.มากกว่า 500 ไร่ขึ้นไปตามคำสั่ง คสช.ที่ 36/2559 ลงวันที่ 5 ก.ค.2559 เรื่อง มาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อนำเข้าสู่กระบานการปฏิรูปที่ดิน จัดสรรให้แก่เกษตรกรผู้ยากจนที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ตามโครงการจัดรูปที่ดินให้เกษตรกรในรูปแบบสหกรณ์ ซึ่งเป็นนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยการเดินทางมาในครั้งนี้ มีนายสัตวแพทย์อมรินทร์ กัลล์ประวิทธ์ ปศุสัตว์จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ และนำพาสำรวจพื้นที่

สำหรับที่ดินแปลงดังกล่าว พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางมาเป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อส่งมอบให้คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ตามคำสั่ง หน.คสช.ที่ 36/2559 เมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งการจัดสรรให้เกษตรกรได้กำหนดเอาไว้ที่รายละ 5 ไร่ โดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ พื้นที่จัดที่ดินให้แก่เกษตรกรรายละ 5 ไร่ ส่วนที่ 2 คือ พื้นที่แปลงรวมใช้สำหรับการปลูกหญ้าเพื่อนำมาเป็นอาหารให้แก่แพะ ส่วนที่ 3 คือ พื้นที่ด้านหน้าที่ติดกับถนนซึ่งกันเอาไว้เป็นพื้นที่ส่วนกลางใช้สำหรับการก่อสร้างตลาด และอาคารสหกรณ์ขึ้นมาเพื่อดูแลด้านการซื้อขายแพะที่เกษตรกรเป็นผู้เลี้ยง และส่วนที่ 4 คือ พื้นที่ด้านหลัง ซึ่งจะกันเอาไว้เป็นพื้นที่ป่า

นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า พื้นที่ที่ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยึดคืนมาจะต้องนำมาใช้เป็นพื้นที่ที่สร้างอาชีพให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน สำหรับพื้นที่แปลงนี้มีเกษตรกรในพื้นที่ที่ลงทะเบียนเอาไว้มีประมาณ 40-50 ราย แต่เป้าหมายทั้งหมดอยู่ที่ 96 ราย ที่ได้จัดสรรพื้นที่เอาไว้ ซึ่งกรมปศุสัตว์ก็ได้ทำงานร่วมกับ ส.ป.ก.

“สำหรับพื้นที่ที่จัดสรรให้เกษตรกรจะอยู่ในส่วนของพื้นที่ด้านใน ซึ่งขณะนี้ ส.ป.ก.กำลังเร่งรัดในการปรับพื้นที่อยู่ ขณะนี้มีความคืบหน้าไปแล้วประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์” นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว

จากการสำรวจพื้นที่ดังกล่าวเหมาะที่สุดสำหรับการทำเกษตรกรด้านการเลี้ยงแพะ สำหรับด้านการตลาดก็มีความต้องการสูง เชื่อว่าเกษตรกรจะมีกำไรจากการเลี้ยงแพะที่ดีมากทีเดียว และจากสภาพของพื้นที่บริเวณนี้สามารถปลูกหญ้าที่เป็นอาหารของแพะ เชื่อว่าแพะที่เกษตรกรเลี้ยงนั้นจะอยู่ได้อย่างสบาย เพราะฉะนั้น กรมปศุสัตว์ จะตั้งเป็นสหกรณ์ของแพะเนื้อ หรือนิคมแพะนม แต่จะต้องมาศึกษาความเป็นไปได้อีกครั้งหนึ่ง แต่ในเบื้องต้นได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะตั้งเป็นนิคมแพะเนื้อ

โดยขณะนี้เริ่มมีพี่น้องเกษตรกรเข้ามาดูพื้นที่บ้างแล้ว ซึ่งก็ไม่ได้รอช้า เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ก็ได้ให้นโยบายให้เร่งรัดนำเกษตรกรเข้ามาอยู่ในพื้นที่ให้เร็วที่สุด แต่ดูจากสภาพพื้นที่ที่จัดสรรให้เกษตรกรที่อยู่ด้านใน คาดว่าอีกประมาณ 2-3 เดือน จึงจะเริ่มดำเนินการได้

เพราะฉะนั้นกรมปศุสัตว์จะเริ่มดำเนินการพื้นที่แปลงสาธิตที่กันเอาไว้ด้านหน้าก่อน เพราะมีความจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องมีแปลงสาธิตเพื่อให้เกษตรกรที่ไม่เคยเลี้ยงแพะมาก่อนได้เรียนรู้ถึงวิธีการขั้นตอนทั้งหมดให้เข้าใจ โดยจะมีเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินแต่มีความเชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงแพะเข้ามาอยู่ในแปลงสาธิตประมาณ 4-5 ราย ซึ่งวันนี้ เกษตรกรดังกล่าวก็ได้เดินทางมาด้วย ซึ่งหากทำแปลงสาธิตแล้วเสร็จ จะทำให้การตลาดนั้นเริ่มเกิดขึ้นทันที

สำหรับที่ดินแปลงนี้เป็นเส้นทางผ่านไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ของจังหวัดกาญจนบุรี กรมปศุสัตว์ จะได้ประสานกับการท่องเที่ยวเข้ามาร่วมดำเนินการ โดยใช้ศักยภาพสินค้าด้านอาหาร เช่น สินค้าด้านเนื้อแพะ หรือนมแพะ มาเป็นตัวชูโรง ซึ่งการดำเนินการเราไม่ได้ทำเฉพาะภาครัฐ แต่มีเกษตรกรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงแพะมาช่วยกันดำเนินการอีกทางหนึ่งด้วย เมื่อเกษตรกรกลุ่มดังกล่าวมาถึงก็สามารถดำเนินการได้เลย ซึ่งถือว่าเป็นความก้าวหน้าของกรมปศุสัตว์ และ ส.ป.ก.ที่ได้ดำเนินการร่วมกัน

สำหรับผังรวมทั้งหมดบริเวณจุดนี้จะเป็นพื้นที่รับผิดชอบของชลประทาน ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ได้ออกแบบจุดสร้างแหล่งน้ำเอาไว้แล้ว และจะนำงบประมาณพร้อมเครื่องจักรเข้ามาดำเนินการ แต่พื้นที่บริเวณนี้ค่อนข้างลาดชัน กรมชลประทาน จึงจำเป็นต้องทำฝายน้ำ รวมทั้งเส้นทางน้ำด้วย คาดว่าภายในปีนี้กรมชลประทานจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด

เพราะฉะนั้นปัญหาเรื่องของน้ำ ก่อนที่จะมีการนำแพะเข้ามาให้เกษตรกรเลี้ยง ทุกหน่ายงานได้มีการขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่แล้ว ว่า ช่วงระยะที่เริ่มมีการเลี้ยงแพะ ขอให้เจ้าหน้าที่ทหารได้ช่วยเหลือด้วยการบรรทุกน้ำเข้ามาช่วยเหลือ แต่ก็คงใช้น้ำไม่มากนัก เพราะแพะนั้นกินน้ำค่อนข้างน้อย อีกทั้งเกษตรกรต่างก็ทยอยกันเข้ามา เมื่อเข้ามาครบกรมชลประทานก็ดำเนินการสร้างแหล่งน้ำเสร็จพอดี

สำหรับแพะนั้นเป็นสัตว์ที่มีความอดทนมาก จึงไม่มีปัญหาอะไร ส่วนเรื่องอาหารของแพะนั้น พืชที่เหมาะสมจะต้องเป็นพืชยืนต้น เช่น ต้นกฐิน และต้นหม่อน ซึ่งต้นหม่อนนั้นมีคุณค่าทางอาหารมากกว่าต้นกฐิน ดังนั้น รายได้เสริมของเกษตรกร นอกจากการเลี้ยงแพะแล้ว ก็สามารถขายใบหม่อนได้อีกทางหนึ่ง และเชื่อว่าบริเวณพื้นที่แห่งนี้จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ในอนาคต

นายไพโรจน์ เขียวชอุ่ม นายช่างเครื่องกล ชำนาญงานสำนักพัฒนาพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า สำนักพัฒนาพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) ได้ดำเนินการนำเครื่องจักกลเข้ามาปรับพื้นที่ได้ประมาณ 20 วัน สามารถดำเนินการได้แล้ว จำนวน 500 ไร่ เหลืออีกประมาณเกือบ 300 ไร่ ส่วนที่ดินอีกประมาณ 400 ไร่ ได้กันเอาไว้เป็นผืนป่า สำหรับปัญหา และอุปสรรคในการปรับพื้นที่ค่อนข้างยากพอสมควร เพราะพื้นที่ใต้ผิวดินส่วนใหญ่เป็นหิน ทำให้รถไถ และรถแบ็กโฮเกิดความเสียหาย ทำให้ล่าช้าไปบ้าง แต่ก็สามารถแก้ไขได้ และคาดว่าการปรับพื้นที่จะแล้วเสร็จประมาณปลายเดือนตุลาคมนี้อย่างแน่นอน




กำลังโหลดความคิดเห็น