นครพนม - นักเปิบพิสดารน้ำลายไหล.. ออกพรรษานี้ได้กินแล้ว เมนูเด็ด “ต่อหัวเสือ” ชาวบ้านหนองบัว ต.ปลาปาก อ.ปลาปาก นครพนมเริ่มเก็บตัวต่อขาย รังละ 1,000-2,000 บาท แล้วแต่ขนาด ช่วงหายากขยับไปถึงกิโลฯ ละ 3,000 บาท ทำเงินสะพัดในชุมชน บางรายขายได้ถึงหลักแสนบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครพนม ในช่วงนี้ถือเป็นโอกาสทองของชาวบ้านบ้านหนองบัว ต.ปลาปาก อ.ปลาปาก จ.นครพนม อีกหมู่บ้านสำคัญของ จ.นครพนม ที่มีอาชีพแปลกไม่เหมือนใคร หรือที่ชาวบ้านเรียกกันแบบน่ากลัวว่าอาชีพ “เสี่ยงตาย” เนื่องจากชาวบ้านที่นี่จะมีการสืบทอดอาชีพภูมิปัญญาชาวบ้านมาจากบรรพบุรุษ ทำให้มีความชำนาญในการเรียนรู้ที่จะทำอาชีพเลี้ยงต่อหัวเสือขาย
ทำให้ในช่วงใกล้เทศกาลออกพรรษาทุกปีจะมีบรรดาพ่อค้า แม่ค้า รวมถึงนักเปิบพิสดารเมนูต่อหัวเสือมาสั่งซื้อตัวต่อไปปรุงเป็นเมนูเด็ด สร้างเงินหมุนเวียนสะพัดปีละหลายแสนบาท สำหรับฤดูกาลเลี้ยงต่อของชาวบ้านจะเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงหน้าฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม หรือตรงกับช่วงฤดูกาลทำนา ชาวบ้านจะใช้เวลาว่างไปล่าหารังต่อหัวเสือด้วยการนำวิธีภูมิปัญญาชาวบ้าน นำเหยื่ออาหารต่อ จำพวกเนื้อสัตว์ ตั๊กแตน ไปล่อเอาแม่ต่อที่ออกหาอาหารตามทุ่งนา พร้อมทำเครื่องหมายสัญลักษณ์ด้วยเชือกฟางให้สังเกตง่าย นำไปติดกับเหยื่ออาหารต่อ
พอแม่ต่อนำเหยื่อบินกลับไปรังตามธรรมชาติ ชาวบ้านจะติดตามไปจนถึงรังในป่า ก่อนใช้ความชำนาญย้ายรังต่อมาเก็บรักษาไว้ตามไร่นา หรือสวนท้ายหมู่บ้าน เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ และดูแลตามธรรมชาติไม่ต้องให้อาหาร ส่วนใหญ่จะใช้เวลากลางคืนทำการเคลื่อนย้ายเพราะจะได้แม่ต่อมาทั้งหมด เนื่องจากกลางวันจะออกไปหาอาหาร
จนกระทั่งเวลาประมาณ 3-4 เดือน หรือช่วงใกล้เทศกาลออกพรรษาจะเป็นฤดูกาลเก็บผลผลิตเอาลูกต่อหัวเสือเพื่อนำมาจำหน่าย ซึ่งถือเป็นเมนูอีสานที่ได้รับความนิยม เป็นที่ต้องการของตลาดจำนวนมาก มีราคาซื้อขายประมาณรังละ 1,000-2,000 บาท แล้วแต่ขนาด หรือบางรายจะนำเอาตัวต่อ ลูกต่อที่เป็นดักแด้มาชั่งกิโลขาย ประมาณกิโลกรัมละ 1,000-1,500 บาท ยิ่งหากนำไปปรุงเป็นเมนูอีสาน สามารถทำได้สารพัดเมนูเด็ด
เช่น แกงใส่หน่อไม้ดอง นึ่ง ผัด คั่ว ห่อหมก หรือยำ ตามความชอบ เมื่อไปถึงร้านอาหารยิ่งมีราคาแพง จานละ 300-500 บาท เพราะเป็นเมนูหายาก ถือเป็นอาชีพที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้แก่ชาวบ้านทุกปี บางรายขยันออกไปล่าสามารถทำเงินได้ปีละเป็นแสน
นายสง่า แสงแก้ว อายุ 38 ปี นายก อบต.ปลาปาก อ.ปลาปาก จ.นครพนม ผู้มีความชำนาญในการเลี้ยงต่อมากว่า 20 ปี จนชาวบ้านเรียกว่า เซียนต่อ กล่าวว่า ในช่วงนี้เป็นโอกาสดีของชาวบ้านเลี้ยงต่อ เพราะเป็นฤดูกาลเก็บผลผลิตยาวไปถึงบุญประเพณีออกพรรษา ทำให้มีบรรดาพ่อค้า แม่ค้ามาสั่งซื้อลูกต่อจำนวนมากจนไม่เพียงพอ ปีนี้ยอมรับว่าภัยแล้งกระทบทำให้ต่อหัวเสือหายาก ขยายพันธุ์น้อย ส่งผลราคาแพง ตกรังละประมาณ 1,500-3,000 บาท
หากนำลูกตัวต่อมาชั่งขายจะตกกิโลกรัมละประมาณ 1,500 บาท ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ บางรายขยันทำเงินได้ปีละเป็นแสน ยอมรับว่าเป็นแมลงที่อันตราย มีพิษที่รุนแรง เมื่อต่อยจำนวนมากถึงขั้นเสียชีวิตได้
แต่สำหรับชาวบ้านหนองบัวถือว่าเป็นวิถีชีวิตที่อยู่ด้วยกันมานาน แต่ไม่ประมาท เพราะหากเราเข้าใจในวิถีชีวิตธรรมชาติของต่อจะไม่อันตราย ที่ผ่านมาไม่เคยเกิดอันตรายกับชาวบ้าน เพราะชาวบ้าน ลูกหลานจะเข้าใจวิธีการดูแลป้องกัน จึงกลายเป็นอาชีพเสี่ยงที่สร้างรายได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ยังเคยคิดหาวิธีจะนำต่อมาเลี้ยงแต่ไม่สำเร็จ เพราะต่อหัวเสือจะต้องเติบโต ขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ ไม่สามารถเลี้ยงได้ตลอดปี จึงได้เริ่มต้นเปลี่ยนแนวคิด หาวิธีเป็นการคิดค้นการเก็บผลผลิต จากดั้งเดิมที่ใช้การรมควันเพราะปลอดภัย มาเป็นการล้วงรังต่อแบบสดๆ เพราะจะทำให้แม่ต่อไม่ตาย เป็นการรักษาปริมาณตัวต่อหัวเสือ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มผลผลิต
เพราะเมื่อเราเอาแผงตัวอ่อนของลูกต่อมาแล้วบางส่วน ที่เหลือจะทำให้ตัวต่อไปทำรังเพิ่ม ได้ผลผลิตอีกประมาณ 2-3 รอบ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้ได้ผลิตมากขึ้น พร้อมมีการคิดค้นประดิษฐ์ชุดเสื้อผ้าที่รัดกุมปลอดภัย และต้องมีความชำนาญในการล้วงรังต่อ เพราะหากพลาดอาจถึงชีวิต ส่วนที่ผ่านมาจากการศึกษาพบว่าปริมาณตัวต่อจะเพิ่มหรือลดไม่ได้ขึ้นอยู่กับการล่า แต่จะมาจากปัจจัยเรื่องความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ เป็นหลัก เพราะต่อหัวเสือจะมีฤดูกาลก่อรัง ขยายพันธุ์ ในช่วงฤดูฝน ถึงออกพรรษา ประมาณ 3-4 เดือนเท่านั้น
ปัจจุบันปัญหาที่น่าห่วงคือ การใช้สารพิษฉีดพ่นในการเกษตร รวมถึงการทำลาย ธรรมชาติ จะทำให้ต่อหัวเสือลดลง รวมถึงภัยแล้ง จะทำให้ต่อหัวเสือหายากมากขึ้น ซึ่งต่อหัวเสือนับวันยิ่งราคาแพง ปัจจุบันตกรังละ 1,500-3,000 บาท ไม่เพียงขายลูกตัวอ่อนต่อหัวเสือเท่านั้น รังต่อหัวเสือยังสามารถขายได้ เพราะเป็นความเชื่อนำไปตกแต่งให้เกิดความสวยงาม นิยมมีไว้หน้าบ้านจะต่อโชคต่อลาภ หรือต่อยอดความเจริญรุ่งเรือง มีราคาซื้อขายถึงหลัก 10,000 บาท
ดังนั้น ทาง อบต.ปลาปาก อ.ปลาปาก จ.นครพนม จึงได้เห็นความสำคัญในการอนุรักษ์ธรรมชาติ ไม่เพียงเลี้ยงขายสร้างอาชีพ ยังได้ส่งเสริมอนุรักษ์ จัดงานเทศกาลกินต่อ ขึ้นทุกปี ทำมาได้ประมาณ 4 ปี เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกให้ชาวบ้าน
รวมถึงประชาชนได้ช่วยกันอนุรักษ์ ดูแลธรรมชาติให้มีความอุดมสมบูรณ์ และเข้าใจ เห็นความสำคัญของอาชีพเลี้ยงต่อหัวเสือ ให้สามารถเลี้ยงได้อย่างปลอดภัย มีรายได้เสริมอีกทาง ไปจนถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยว กลายเป็นประเพณีสำคัญที่สร้างความสนใจให้แก่ประชาชน นักท่องเที่ยว มาเที่ยวชมศึกษาคึกคักทุกปี