xs
xsm
sm
md
lg

ถ่อมตัว! อาจารย์สาว มช.สอนหนังสือผ่านสไกป์ ทั้งที่นอนรักษาตัว บอกทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ หลังโลกออนไลน์แห่ยกย่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - แชร์ว่อนโลกออนไลน์! ยกย่องจิตวิญญาณครู อาจารย์สาว มช.สอนหนังสือผ่านสไกป์ ทั้งๆ ที่ต้องนอนพักรักษาตัวตามหมอสั่ง หลังจากเจ็บท้องขณะตั้งครรภ์ 33 สัปดาห์ และมีอาการตกเลือด เจ้าตัวเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุแค่ทำตามหน้าที่ให้ดีที่สุด และการใช้วิธีการแบบนี้ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใหม่ พร้อมเชิดชูยังมีอาจารย์อีกหลายท่านที่ทุ่มเททำหน้าที่หนักยิ่งกว่านี้เพื่อลูกศิษย์

รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ แจ้งว่า ในโซเชียลมีเดียมีการเผยแพร่เรื่องราว และชื่นชมอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่คนหนึ่ง ที่มีเหตุจำเป็นจนทำให้ต้องสอนหนังสือนักศึกษาผ่านทางโปรแกรม “สไกป์” (Skype) ที่สามารถใช้ภาพ และเสียงติดต่อกันได้ผ่านระบบออนไลน์ โดยเรื่องราวเริ่มต้นจากผู้ใช้ทวิตเตอร์ @Moyasweetpea ที่ได้โพสต์ข้อความว่า “มีความพีก อาจารย์ ลาคลอดแล้วสไกป์มาสอน ยอมใจจริงๆ กราบ” พร้อมกับภาพจากจอโปเจกเตอร์ที่อาจารย์กำลังสอนผ่านสไกป์ เมื่อวันที่ 26 ก.ย.59 ที่ผ่านมา ซึ่งเรื่องราวดังกล่าวนี้มีการเผยแพร่ออกไปอย่างรวดเร็ว พร้อมกับเกิดกระแสชื่นชมยกย่องจิตวิญญาณความเป็นครูของอาจารย์สาวคนดังกล่าวที่มีความห่วงในการเรียนของลูกศิษย์

โดยจากการตรวจสอบ พบว่า อาจารย์คนดังกล่าว คือ ดร.ญาณิน จิวะกิดาการ อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเนื่องจากมีอาการเจ็บท้องขณะตั้งครรภ์ 33 สัปดาห์ และมีอาการตกเลือดหลายวัน จึงจำเป็นต้องลาป่วย โดยที่แพทย์แนะนำให้นอนบนเตียงเพื่อเฝ้าระวัง จึงทดลองใช้สไกป์สอนนักศึกษา เพื่อเตรียมการในช่วงที่อายุครรภ์มากขึ้น ทั้งนี้ จากการติดต่อเพื่อขอสัมภาษณ์ผ่านคนใกล้ชิดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ทางอาจารย์ไม่สะดวกที่จะให้สัมภาษณ์

อย่างไรก็ตาม ในเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า Yanin Chivakidakarn Huyakorn ซึ่งเป็นเฟซบุ๊กส่วนตัวของ ดร.ญาณิน ได้มีการโพสต์ข้อความชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องราวการสอนหนังสือผ่านสไกป์ว่า “ต่อไปนี้เป็นเรื่องราวที่แท้จริงของการสอนผ่าน Skype และสิ่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่ต้องขออนุญาตใช้พื้นที่นี้อธิบายนะคะ

เมื่อวาน (26 ก.ย.) ตนเองได้ขอทดลองสอนนักศึกษาวิชาแนวความคิดทางภูมิศาสตร์ผ่านทางอินเทอร์เน็ต โปรแกรม Skype เหตุเป็นเพราะตนเองตั้งครรภ์ได้ 33 สัปดาห์ แต่มีอาการตกเลือดอยู่หลายวัน ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงเฝ้าระวังแผล ต้องอยู่บนเตียงเกือบตลอดเวลาจึงจำเป็นต้องลาป่วย (ยังไม่คลอดค่ะ) หยุดพักงานไป ซึ่งอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ไม่มีเลย เพียงแค่เดินทางไปทำงานไม่ได้เท่านั้น สูติแพทย์แนะนำให้เริ่มกลับไปทำงานตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2559

แต่จู่ๆ ตนเองมีความกังวลเรื่องความเป็นไปได้ว่า หลังวันที่ 10 ก็อาจจะไปสอนไม่ได้ หรือสอนได้ไม่นาน อะไรก็เกิดขึ้นได้ในช่วงที่ครรภ์อายุมาก จึงคิดว่าในเมื่อเรามีเรี่ยวแรงสามารถสอนบนเตียงผ่านอินเทอร์เน็ตในช่วงเวลานี้ได้ก็ควรจะทำ โดยทดลองกับชั้นเรียนเมื่อวานเป็นครั้งแรกเพื่อประเมินว่าได้ผลดีราบรื่นมากน้อยเพียงไร หากผลออกมาใช้ได้ หากเกิดอะไรขึ้นที่ทำให้ตนต้องยังอยู่บนเตียง วิชาที่ต้องสอนในเดือนตุลาคมทั้งหมดก็จะทำแบบเดียวกันให้จบคอร์สก่อนที่จะคลอด

เชื่อว่าหลายๆ ท่านคงจะเห็นด้วยว่าการใช้ Skype สอนหนังสือนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใดสำหรับอาจารย์ที่มีข้อจำกัดในเรื่องการเดินทาง เป็นที่ใช้กันอย่างแพร่หลายด้วยซ้ำไป ในกรณีที่เป็นประเด็นข่าวขึ้นมาตนเองเชื่อว่าเป็นเพราะนักศึกษานำมาโพสต์กันด้วยไม่คิดว่าอาจารย์ที่ลาจะหาทางมาสอน ซึ่งต้องขอบคุณเด็กๆ และสื่อต่างมากๆ ค่ะที่มีความรู้สึกที่ดีตรงนี้ โดยเฉพาะนักศึกษาที่มีความกระตือรือร้นที่จะเล่าเรียนพลอยทำให้อาจารย์ยินดีที่จะทำงานเต็มที่ ขออนุญาตนำสิ่งที่เกิดขึ้นเก็บไปเป็นกำลังใจให้พยายามมากขึ้นกว่านี้ด้วยความขอบคุณค่ะ

เพิ่มเติมค่ะ
ตนเป็นเพียงอาจารย์ใหม่ที่ทำงานไม่ถึง 2 ปี จะรับคำชื่นชมว่าเป็นครูทุ่มเทนั้นยังเป็นแค่ความตั้งใจที่จะไปให้ถึงเท่านั้น และคงไม่ค่อยจะยุติธรรมนักหากจะรับคำชมไปคนเดียว เพราะมีครูอาจารย์มากมายในโลกที่ทำทุกสิ่งเพื่อนักศึกษาอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยมากกว่าตน และหากอยู่ในสถานการณ์เดียวกันก็คงจะทำสิ่งเดียวกัน หรือดีกว่าได้แน่นอน

ที่สำคัญสิ่งที่ผลักให้ตนพยายามอยู่ทุกวันนี้คือ บุคคลรอบตัวในภาควิชาภูมิศาสตร์ และคณะสังคมศาสตร์ที่ทุ่มเทต่องานเพื่อนักศึกษามากยิ่งกว่าหลายเท่าตัว

อาจารย์อาวุโสที่สอนอย่างหนัก นัดนักศึกษาสอนนอกตารางให้ครบเนื้อหาจนวันที่เกษียณอายุงาน อาจารย์ที่ป่วย ไม่มีเสียง แต่ก็ยังมาสอนทั้งๆ ที่เสียงแหบ อาจารย์ที่มาทำงานตั้งแต่ก่อน 8 โมงเช้า และกลับหลัง 2 ทุ่มที่ออฟฟิศทุกวันแม้วันหยุด อาจารย์ที่รับงานบริหารตำแหน่งสูงๆ มีหน้าที่รับผิดชอบมากมายแต่ก็รับงานสอนนักศึกษาไปด้วยหลายวิชา อาจารย์ที่ประสบอุบัติเหตุรถคว่ำศีรษะถูกกระทบกระเทือนแต่ก็รีบกลับมาสอนแม้ยังมีอาการปวดอยู่ เจ้าหน้าที่ผ่ายสนับสนุนที่ใกล้ชิดกับเด็กๆ และพร้อมทำงานไม่ว่าจะเป็นเวลาไหนอย่างเต็มใจแม้เป็นวันหยุด

ทั้งหมดนั้นเป็นแค่หน้าที่ แค่มาตรฐาน เป็นการเคารพนักศึกษา เคารพงานที่ทำ ตนเห็นแต่สิ่งเหล่านี้มาตั้งแต่ต้น และคงจะไม่มีหน้าทำงานอยู่ที่นี่ได้หากไม่ตั้งใจที่จะอย่างน้อยรักษามาตรฐานที่ภาควิชานี้สั่งสมมาตั้งแต่ก่อตั้งจนมีชื่อเสียง เพียงแต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่มีใครโพสต์ให้เป็นกระแสเท่านั้นเองค่ะ :)”

ด้านรองศาสตราจารย์ธีรภัทร วรรณฤมล คณบดีคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงความเห็นว่า กรณีดังกล่าวนี้นอกจากความทุ่มเททำหน้าที่ของอาจารย์ผู้สอนที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่งแล้ว ยังเป็นตัวอย่างที่ดี ที่ชี้เห็นเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดีด้วย โดยในอนาคต หรือแม้แต่ในปัจจุบันห้องเรียนไม่จำเป็นจะต้องถูกจำกัดด้วยเรื่องของสถานที่แล้ว แต่ความสำคัญจะอยู่ที่เนื้อหาสาระ และองค์ความรู้ที่อาจารย์จะสอน หรือถ่ายทอดให้แก่ผู้เรียนมากกว่า


ภาพจากเฟซบุ๊ค Yanin Chivakidakarn Huyakorn
ภาพจากเฟซบุ๊ค Yanin Chivakidakarn Huyakorn
กำลังโหลดความคิดเห็น