xs
xsm
sm
md
lg

กรมชลฯ เตือนอีก 7 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาเตรียมรับการระบายน้ำเขื่อนชัยนาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ชัยนาท - กรมชลประทาน แจ้งเตือนอีกรอบ 7 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี และสุพรรณบุรี เตรียมรับการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา เพิ่มเป็น 2,000 ลบ.ม./วินาที

วันนี้ (28 ก.ย.) นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ทำหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 27 กันยายน 2559 แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ฉบับที่ 2 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี และสุพรรณบุรี เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำที่จะเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ในอัตรา 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ได้คาดการณ์ในช่วงวันที่ 28 กันยายน ถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2559 สภาพความกดอากาศต่ำจะเคลื่อนตัวขึ้นไปในบริเวณภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน จะทำให้ฝนตกในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน ใกล้เคียงกับสัปดาห์ที่ผ่านมา

กรมชลประทาน จึงได้คาดการณ์ปริมาณน้ำที่จะเกิดจากปริมาณฝนตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ที่สถานี C2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีค่าสูงสุดประมาณ 2,155 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และมีปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง สูงสุดประมาณ 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รวมที่จะเข้าเขื่อนเจ้าพระยา 2,555 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในวันที่ 6 ตุลาคม 2559 ทำให้ในระยะนี้ต้องมีการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตรา 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเป็นลำดับ

โดยกรมชลประทาน ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการดำเนินการ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน 50-70 เซนติเมตร ทั้งนี้ หากมีฝนตกเพิ่มเติม และจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่าเกณฑ์ดังกล่าวจะได้แจ้งให้ทราบต่อไป

ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้านที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร เป็นต้น และประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ขอให้เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

กำลังโหลดความคิดเห็น