ศูนย์ข่าวศรีราชา - รมว.เกษตรและสหกรณ์ ร่วมสัมมนาขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ที่ จ.ชลบุรี หวังสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรในพื้นที่ ได้นำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการผลิตสินค้าเกษตร และปรับเปลี่ยนระบบการผลิตให้เหมาะสม
เมื่อเวลา 15.00 น. วันนี้ (27 ก.ย.) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการการขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน พัทยา อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยมีผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ ประธาน ศพก. และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และรัฐบาล มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ขึ้นอำเภอละ 1 ศูนย์ รวมทั้งหมด 882 ศูนย์ทั่วประเทศ เพื่อถ่ายทอดความรู้ และให้บริการแก่เกษตรกรในชุมชนให้ได้รับความรู้ เข้าถึงปัจจัยการผลิต ลดความเสี่ยงในการบริหารจัดการ และให้เกิดความเข้มแข็ง
โดยเกษตรกรในพื้นที่สามารถนำความรู้ที่ได้รับจาก ศพก.ไปประยุกต์ใช้ในการผลิตสินค้าเกษตร และปรับเปลี่ยนระบบการผลิตให้เหมาะสมต่อพื้นที่สภาพการผลิตของตนเอง และความต้องการของตลาดทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ผลผลิตมีคุณภาพ และปริมาณมากขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน
สำหรับกิจกรรม ประกอบด้วย การบรรยายแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานเครือข่าย ศพก. การแบ่งกลุ่มอภิปรายในเรื่องการสร้างแนวทางการขับเคลื่อนเครือข่าย ศพก.ระดับจังหวัด และระดับเขต การจัดนิทรรศการแนวทางการขับเคลื่อน ศพก. ซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับจากการสัมมนา คือ การเกิดเครือข่าย ศพก.ระดับจังหวัด ระดับเขต และแนวทางการการดำเนินงานในปี 2560
ขณะที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตระหนักดีถึงความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ด้านการผลิตดังกล่าว และเข้าใจถึงความต้องการของเกษตรกร จึงได้สร้างกลไกการถ่ายทอดความรู้ที่จำเป็นสู่เกษตรกรผ่าน ศพก.
หน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันนำองค์ความรู้ และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นของพี่น้องเกษตรกร ณ ศูนย์เรียนรู้ฯ ทั้ง 882 แห่งทั่วประเทศ และปรับปรุงกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องต่อการผลิตในพื้นที่ ทั้งชนิดสินค้าศักยภาพของพื้นที่ และเกษตรกรรวมทั้งประยุกต์องค์ความรู้ต่างๆ ให้มีความเหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมของพื้นที่นั้นๆ อย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่เกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง