พระนครศรีอยุธยา - เจ้าหน้าที่กรมศิลป์ที่ 3 พระนครศรีอยุธยา ระดมกำลังเร่งยกบังเกอร์ป้องกันน้ำท่วมโบราณสถานวัดไชยวัฒนารามให้แล้วเสร็จวันนี้ หลังน้ำขึ้นสูงเหลืออีก 60 เซนติเมตร
วันนี้ (24 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวได้เดินทางลงพื้นที่วัดไชยวัฒนาราม ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา หลังระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณเพิ่มขึ้นอีกกว่า 60 เซนติเมตร พบว่า ที่บริเวณวัดไชยวัฒนาราม เจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา กว่า 50 คน ได้แบ่งหน้าที่เร่งยกบังเกอร์ จำนวน 138 แผ่น มีระยะทางยาว 165 เมตร และมีความสูง 1 เมตร 90 เซนติเมตร เพื่อให้แล้วเสร็จภายในวันนี้ เนื่องจากน้ำเจ้าพระยามีปริมาณขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว โดยที่บริเวณหน้าวัดไชยวัฒนารามนั้น ล่าสุด เหลืออีกเพียง 60 เซนติเมตรเท่านั้นก็จะถูกน้ำเข้าท่วม
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังเร่งก่อกระสอบทรายเตรียมรับมือทันทีถ้าน้ำขึ้นสูงโดยเตรียมไว้เบื้องต้น 1,000 กระสอบ และพร้อมจะเพิ่มได้ทันทีถ้าระดับน้ำขึ้นสูงกว่านี้ พร้อมกับจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยตอนนี้ปริมาณน้ำที่ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีกว่า 1,800 ลูกบากศ์เมตรแล้ว ซึ่งอีกประมาณ 70-90 เซนติเมตร น้ำก็จะล้นตลิ่งแล้ว
อนึาง สำหรับวัดไชยวัฒนาราม หรือวัดชัยวัฒนาราม เป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยาตอนปลายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทางฝั่งตะวันตกนอกเกาะเมือง
วัดไชยวัฒนาราม เป็นวัดสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ.2173 โดยเดิมบริเวณที่ตั้งของวัดแห่งนี้เคยเป็นที่อยู่ของพระราชมารดาที่ได้สิ้นพระชนม์ไปก่อนที่พระเจ้าปราสาททองได้เสวยราชสมบัติเป็นกษัตริย์ เมื่อพระองค์ได้เสวยราชสมบัติ พระองค์จึงได้สร้างวัดไชยวัฒนารามขึ้นเพื่ออุทิศผลบุญนี้ให้แก่พระราชมารดาของพระองค์ และอีกประการหนึ่งวัดนี้อาจถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะเหนือเขมรด้วย จึงทำให้มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมส่วนหนึ่งมาจากปราสาทนครวัด
สำหรับวัดไชยวัฒนาราม มีปรางค์ประธาน และปรางค์มุมอยู่บนฐานเดียวกัน พระปรางค์ประธานนำรูปแบบของพระปรางค์สมัยอยุธยาตอนต้นมาก่อสร้าง แต่ปรางค์ประธานที่วัดไชยวัฒนาราม ทำมุขทิศยื่นออกมามากกว่า บนยอดองค์พระปรางค์ใหญ่อาจเคยประดิษฐานพระเจดีย์ขนาดเล็ก สื่อถึงพระเจดีย์จุฬามณีบนยอดเขาพระสุเมรุ รอบพระปรางค์ใหญ่ล้อมรอบไปด้วยระเบียงคตที่เดิมนั้นมีหลังคา
ภายในระเบียงคตประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยที่เคยลงรักปิดทองจำนวน 120 องค์ เป็นเสมือนกำแพงเขตศักดิ์สิทธิ์ ตามแนวระเบียงคตตรงทิศทั้งแปดสร้างเมรุทิศ และเมรุมุม (เจดีย์รอบๆ พระปรางค์ใหญ่) ภายในเมรุทุกองค์ประดิษฐานพระพุทธรูป ภายในซุ้มเรือนแก้วล้วนลงรักปิดทอง ฝ้าเพดานทำด้วยไม้ประดับลวดลายลงรักปิดทองเช่นกัน