บุรีรัมย์ - เทศบาลเมืองนางรอง เอาจริงห้ามชาวบ้านที่อยู่นอกเขตลอบนำขยะเข้ามาทิ้งในเขต ฝ่าฝืนปรับ 2,000 บาท เผยบ่อฝังกลบเต็ม ส่วนบ่อกำจัดขยะแห่งใหม่ก็ถูกค้านการก่อสร้าง ล่าสุด ต้องเสียค่าใช้จ่ายเดือนละเกือบ 5 แสน ขนขยะวันละกว่า 20 ตัน ไปทิ้ง อ.สตึก ไกลกว่า 100 กม. แต่เก็บค่าขยะได้แค่ปีละ 6 แสน
วันนี้ (24 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เทศบาลเมืองนางรอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ได้นำป้ายประกาศที่มีข้อความว่า “ห้ามนำขยะจากพื้นที่ใกล้เคียงมาทิ้งในเขตเทศบาลเมืองนางรอง เนื่องจากทางเทศบาลไม่มีสถานที่กำจัดขยะ หากฝ่าฝืนนำมาทิ้ง มีโทษปรับไม่เกิน 2,000” ไปติดไว้ตามจุดต่างๆ ในเขตเทศบาล เพื่อเป็นการปราบไม่ให้ประชาชน พ่อค้าแม่ค้า หรือบุคคลที่อยู่นอกเขตรับผิดชอบของเทศบาลเมืองนางรอง ลักลอบนำขยะทุกชนิดเข้ามาทิ้งในเขตเทศบาล
หลังจากประสบปัญหาบ่อฝังกลบขยะเดิมที่เช่าพื้นที่ของเอกชนเต็ม ประกอบกับสถานที่ก่อสร้างอาคาร และบ่อกำจัดขยะแห่งใหม่ที่ตั้งงบประมาณไว้กว่า 100 ล้านบาท และมีการก่อสร้างอาคารไปแล้วบางส่วนก็ถูกชาวบ้านในพื้นที่คัดค้าน ทำให้โครงการต้องระงับเพื่อลดความขัดแย้ง หลังประสบปัญหาไม่มีสถานที่ทิ้งขยะ ต่อมา ทางเทศบาลได้นำขยะที่ต้องจัดเก็บทุกวันๆ ละกว่า 30 ตัน มาฝังกลบไว้บริเวณด้านหน้า และด้านหลังสำนักงานเทศบาล
จึงมีผู้ร้องเรียนว่าส่งกลิ่นเหม็น และทางกองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปทส.) ได้เข้ามาตรวจสอบ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น
ล่าสุด ทางเทศบาลได้ใช้รถบรรทุกขนถ่ายขยะที่จัดเก็บในเขตเทศบาลวันละกว่า 20 ตัน ไปกำจัดที่บ่อฝังกลบของเทศบาลตำบลสตึก อ.สตึก ระยะทางกว่า 100 กม. ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการกำจัดขยะให้ทางเทศบาลตำบลสตึก วันละ 15,000 บาท รวมทั้งค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้รถขนถ่ายอีกรวมเฉลี่ยเดือนละเกือบ 500,000 บาท
แต่ทางเทศบาลสามารถจัดเก็บค่าขยะจากประชาชนในชุมชนได้เพียงปีละ 600,000 บาทเท่านั้น จึงจำเป็นต้องปิดประกาศห้ามไม่ให้บุคคลนอกเขตนำขยะเข้ามาทิ้งในเขต หากฝ่าฝืนก็จะถูกปรับ 2,000 บาท
นายปรีชา วัฒนากุล รองนายกเทศมนตรีเมืองนางรอง กล่าวว่า นอกจากจะปิดประกาศห้ามนำขยะจากนอกเขตเข้ามาทิ้งในเขตเทศบาลแล้ว ยังได้ความร่วมมือประชาชนทั้ง 13 ชุมชน ได้ร่วมกันคัดแยก หรือกำจัดขยะต้นทาง โดยขยะเปียกให้ประชาชนทำการฝังกลบกำจัดเอง ส่วนขยะแห้ง หรือขยะทั่วไปทางเทศบาลจะดำเนินการจัดเก็บแล้วนำไปกำจัดที่เทศบาลตำบลสตึก เพื่อช่วยกันลดปริมาณขยะในอีกทางหนึ่ง
ส่วนมาตรการในระยะยาวนั้น ทางเทศบาลกำลังจัดหาสถานที่ฝังกลบขยะแห่งใหม่โดยจะขอใช้พื้นที่สาธารณะทุ่งดอนแต้ว ที่กำลังขอคืนพื้นที่จากผู้บุกรุกกว่า 100 ไร่ พร้อมขอสนับสนุนงบจากกระทรวงทรัพย์ เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงกำจัดขยะแบบปั่นแห้ง ซึ่งเป็นการกำจัดขยะที่ไม่กระทบต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการอยู่ เชื่อว่าหากแล้วเสร็จจะสามารถแก้ไขปัญหาขยะที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นได้