เชียงราย - “อาจารย์เฉลิมชัย” ศิลปินแห่งชาติผู้รังสรรค์วัดร่องขุ่น ฟันธงเอ็มวี “ท่องเที่ยวไทยมีเฮ-ทศกัณฐ์แคะขนมครก ปั่นจักรยาน ฯลฯ” ไม่มีเลยเถิด แต่กลับดีต่อศิลปะไทย ทำให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักยักษ์ในอุดมคติ ย้ำเรายังรัก ยังเคารพศิลปะคนรุ่นเก่า ถามตรงถ้าจะเอาแต่อนุรักษ์..แล้วจะพัฒนาได้อย่างไร
วันนี้ (22 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการนำตัวทศกัณฐ์ออกมาประชาสัมพันธ์ทางสื่อวิดีโอ หรือเอ็มวี เรื่อง “ท่องเที่ยวไทยมีเฮ” ที่มีทศกัณฐ์แสดงอิริยาบถต่างๆ ที่ผิดแผกไปจากทศกัณฐ์ในอุดมคติดั้งเดิม เช่น ทศกัณฐ์ปั่นจักรยาน, เที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ รวมถึงวัดร่องขุ่น ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมือง จ.เชียงราย ซึ่ง อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติที่รังสรรค์ศิลปะวัดร่องขุ่นร่วมอยู่ในเอ็มวีดังกล่าวด้วยนั้น
อาจารย์เฉลิมชัยบอกว่า ศิลปะนั้นมีอยู่ 2 อย่าง คือ ศิลปะอนุรักษนิยม และศิลปะร่วมสมัย หรือเรื่องของเก่า กับของใหม่ เป็นปัญหาของโลก ไม่เฉพาะประเทศไทย แต่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยยิ่งต้องเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะการจะไปเปลี่ยนแปลงจากสิ่งโบราณที่ดีไปสู่สิ่งใหม่ที่ไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดีนั้นถือว่า “ยากยิ่ง” เพราะครูบาอาจารย์โขนที่แสดงกันนั้นเขาจะถือว่ามีครูบาอาจารย์ มีความขลัง มีอุดมคติ มีจินตนาการที่ยิ่งใหญ่ และมีความอลังการ ซึ่งพวกเราจะต้องอนุรักษ์เอาไว้ทั้ง 2 อย่างคู่กันไป ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาทำกันอย่างนี้
ส่วนกรณีของยักษ์ทศกัณฐ์ในเอ็มวีนี้ ตนกลับเห็นว่าไม่ได้เกินเลย ถือว่าเป็นการพัฒนางานศิลปะของชาติไปสู่ความเป็นศิลปะร่วมสมัย เท่าทันกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดี
อาจารย์เฉลิมชัยกล่าวว่า เอ็มวีนี้ถือเป็นของใหม่ที่อาจดูสนุกสนาน แต่อาจไม่ถูกใจคนรุ่นเก่า อย่างทศกัณฐ์ขี่รถ แคะขนมครก เล่นการละเล่นต่างๆ เพราะทศกัณฐ์ไม่ใช่ของเล่น ทศกัณฐ์ในอุดมคติทรงพลังอำนาจ มีความงดงาม อยู่ในโรงละครไม่ใช่เอาออกมาเล่น แต่ตนก็เห็นว่าไม่น่าเป็นอะไร เพราะทำให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักทศกัณฐ์ และไม่ได้ดูถูก เพราะไม่ได้เอาทศกัณฐ์ไปอยู่ในที่อันอโคจร หรือไปอยู่กับภาพลามกใดๆ
“ผมขอยืนยันว่าพวกเรายังรักศิลปะของคนรุ่นเก่าอยู่ ยังรักเคารพ ไม่ได้ดูถูกใดๆ ทั้งสิ้น แต่คนรุ่นเก่าก็ควรยินดีกับของใหม่ด้วยเช่นกัน”
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าพวกเราต่างไม่รู้เรื่องศิลปะแล้วพากันดื้อดึงไปด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย โดยคนอนุรักษ์ก็จะเอาแต่อนุรักษ์ ก็ต้องถามว่า “อย่างนี้จะพัฒนาไปได้อย่างไร” ส่วนคนรุ่นใหม่ที่ต้องการพัฒนานั้น การจะทำสิ่งใดก็ต้องระวังอย่าเกินเลย
อาจารย์เฉลิมชัยบอกอีกว่า ยกตัวอย่างงานศิลปะที่มีปัญหา คือ จิตรกรรม และโขน หรือนาฏกรรม ท่านรู้ไหมงานจิตรกรรมในยุคสมัยที่ตนเป็นเด็กหนุ่ม เราไม่สามารถเขียนอะไรที่แหกคอกออกไปจากครูเลย เราต้องเขียนรูปภาพไทยแบบโบราณคร่ำครึ ใครแหกคอกออกไปจะโดนด่า โดนถล่ม และด้วยเหตุนี้จึงทำให้งานศิลปะไทยของตนเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยศิลปากร คือการพัฒนาศิลปะไทย ศิลปะของชาติไปสู่ความเป็นสากล ลักษณะเหมือนการต่อต้านนาฏกรรมขณะนี้เลย
“ของผมโดนต่อต้านตั้งแต่ผมเป็นเด็กหนุ่ม รุ่นครูบาอาจารย์ผมโดนต่อต้านเรื่องใหญ่มาก แต่ท่านรู้ไหมในขณะนี้งานศิลปะร่วมสมัยได้รับการยกย่องเชิดชู ดังนั้น ขอให้คนไทยที่มีความเห็นทั้งสองฝ่ายอย่าขัดแย้งกันเลย ให้หันมาร่วมกันพัฒนาศิลปะของชาติต่อไปดีกว่า”