เชียงราย - “อาจารย์เฉลิมชัย” เห็นแล้วให้คะแนนเกือบเต็มร้อย หลัง “น้องอาร์มานี่” หนูน้อยวัย 10 ขวบชาวภูเก็ต วาดภาพ “ทศกัณฐ์” ได้อย่างสุดสวย แล้วนำมาให้ตรวจถึงวัดร่องขุ่น พร้อมแนะวิธีลงเส้น ก่อนย้ำ “ให้ทำตามที่ปู่สอนจะได้เก่งขึ้นอีก”
วันนี้ (23 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมานะ สามารถ อายุ 44 ปีชาว จ.ภูเก็ต และครอบครัวได้พา ด.ช.วชิรวิทย์ สามารถ อายุ 10 ขวบ หรือน้องอาร์มานี่ ซึ่งมีฝีมือด้านการวาดภาพได้อย่างสวยงาม และเคยถวายตัวเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปนแห่งชาติชื่อดัง เดินทางไปที่วัดร่องขุ่น ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมือง จ.เชียงราย โดย ด.ช.วชิรวิทย์ได้นำภาพวาดยักษ์ทศกัณฐ์ที่รายล้อมด้วยพญานาคและลายไทย ลักษณะเป็นภาพลายเส้น วาดด้วยปากกาบนกระดาษขาวและระบายพื้นสีดำ ลวดลายเป็นสีขาว ให้อาจารย์เฉลิมชัยตรวจสอบ
ด.ช.วชิรวิทย์กล่าวว่า หลังจากเคยเข้าพบกับอาจารย์เฉลิมชัยมาครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา และได้เรียนรู้เรื่องศิลปะมากขึ้น เมื่อกลับไปบ้านก็ได้วาดภาพดังกล่าวขึ้นมาโดยใช้เวลาวาด 2 วัน ตั้งชื่อภาพว่า “ทศกัณฐ์ของอาร์มานี่” เพราะมีการใช้ลวดลายไทยที่อ่อนช้อยงดงามตรงกับที่ตนชื่นชอบ
จากนั้นได้ติดต่อมาหาอาจารย์ว่าจะขอนำภาพมาให้ตรวจดูก็ได้รับอนุญาต เมื่อปิดภาคเรียนแล้วจึงให้คุณพ่อพามาพบเพื่อจะได้ให้อาจารย์ตรวจดูเป็นการบ้านว่าเป็นอย่างไรและจะมีคำแนะนำอื่นๆ เพื่อให้นำไปพัฒนาฝีมืออีกหรือไม่ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่ออาจารย์เฉลิมชัยได้พบกับ ด.ช.วชิรวิทย์ ก็ได้ชื่นชมในความสามารถ และขอดูผลงานการวาดภาพ พร้อมให้คำแนะนำด้านเทคนิคการวาดให้มีความสวยงามมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการวางเส้น ความหนักเบาของการลงน้ำหนักซึ่งได้รับความสนใจจาก ด.ช.วชิรวิทย์ และน้องชายวัย 9 ขวบที่ตามมาด้วยเป็นอย่างมาก
อาจารย์เฉลิมชัยได้แนะให้นำความรู้ที่ได้กลับไปพัฒนาผลงานแล้วค่อยนำมาให้ตรวจดูอีกรอบหนึ่ง ส่วนภาพวาด “ทศกัณฐ์ของอาร์มานี่” ครั้งนี้ให้คะแนน 90 จากเต็ม 100 คะแนน รวมทั้งเขียนข้อความว่า “เก่งขึ้นแล้วลูก ให้หนูวาด และทำตามที่ปู่สอนอีกนะ จะได้เก่งยิ่งขึ้น” พร้อมมีลายมือชื่อให้ด้วย สร้างความดีใจให้แก่ ด.ช.วชิรวิทย์ เป็นอันมาก
อาจารย์เฉลิมชัยกล่าวว่า ตามปกติน้องอาร์มานี่มีความชื่นชอบวาดภาพลวดลายไทยอยู่แล้ว ตรงจุดนี้ตนคงไม่แนะนำเพราะถือว่าทำได้ดี และมีความงดงามมาก เพียงแต่ต้องพัฒนาเรื่องการลงน้ำหนักเส้น การลงเส้น และปริมาตรให้ถูกที่ เช่น ไม่ลงเส้นตรงรูปกาย หัวเข่า เป็นต้น ซึ่งก็ได้ให้ไปทำมาให้ดูอีก ส่วนภาพที่นำมาให้ดูวันนี้ถือว่ามีการพัฒนาขึ้นมาก เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมอย่างมาก