ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 8 จังหวัดเชียงใหม่ เข้าสำรวจหอไตรไม้เก่าแก่อายุกว่าร้อยปีในวัดอู่ทรายคำ เพื่อเก็บข้อมูลสำหรับประกอบการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน หลังเครือข่ายชุมชนชาวเชียงใหม่ 16 เครือข่ายยื่นหนังสือศูนย์ดำรงธรรมให้ตรวจสอบกรณีสร้างตึกสูง เบื้องต้นพบเป็นศิลปะล้านนาและเข้าหลักเกณฑ์การพิจารณา
จากกรณีที่เครือข่ายชุมชนชาวเชียงใหม่ 16 เครือข่ายยื่นหนังสือต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอให้มีการตรวจสอบเรื่องการสร้างอาคารสูงค้ำหอไตรไม้เก่าแก่อายุกว่าร้อยปีในวัดอู่ทรายคำ ตำบลช้างม่อย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมร้องขอให้มีการดำเนินการตรวจสอบและขึ้นทะเบียนอาคารและโบราณสถานที่มีอายุมากกว่า 100 ปี เพื่อป้องกันการรื้อถอน เปลี่ยนแปลง หรือทำลายโบราณสถานโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั้น
ช่วงบ่ายวันนี้ (13 ก.ย. 59) ที่วัดอู่ทรายคำ ตำบลช้างม่อย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นายบุญเชิด สถาพร หัวหน้ากลุ่มงานอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 8 จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมเจ้าหน้าที่จากสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ ได้ลงพื้นที่เข้าทำการสำรวจและตรวจสอบหอไตรไม้ของวัดที่มีอายุกว่าร้อยปี ซึ่งเบื้องต้นพบว่าหอไตรไม้ดังกล่าวเป็นศิลปะแบบล้านนา ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน มีด้านกว้างและยาวประมาณ 5.5 เมตร ความสูงจากพื้นถึงปลายยอดประมาณ 10 เมตร ขณะที่อาคารของวัดที่กำลังทำการก่อสร้างขึ้นใหม่มีการเว้นระยะห่างจากหอไตรเพียง 2.15 เมตรเท่านั้น
ขณะที่การติดต่อเพื่อสอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมจากทางวัดนั้น เบื้องต้นไม่มีผู้ที่สามารถให้ข้อมูลได้ โดยที่เจ้าอาวาสวัดติดกิจนิมนต์ข้างนอก เจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 8 จังหวัดเชียงใหม่จึงทำได้แต่เพียงการสำรวจและเก็บข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น
หัวหน้ากลุ่มงานอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 8 จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การเข้าสำรวจหอไตรไม้เก่าอายุกว่าร้อยปีของวัดอู่ทรายคำในครั้งนี้ เนื่องจากได้รับการร้องขอจากประชาชนเกี่ยวกับการสร้างอาคารสูงติดกับหอไตร และต้องการให้มีการสำรวจตรวจสอบความเป็นไปได้เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนหอไตรไม้ดังกล่าวเป็นโบราณสถานด้วย ทั้งนี้ จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่าหอไตรไม้ดังกล่าวมีลักษณะเป็นการก่อสร้างเป็นศิลปะล้านนา ซึ่งอายุน่าจะอยู่ในเกณฑ์เกินกว่า 100 ปี ซึ่งถือว่าเข้าลักษณะในการที่จะประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน
อย่างไรก็ตาม การขึ้นทะเบียนโบราณสถานได้นั้นมีด้วยกัน 2 ลักษณะ คือ โบราณสถานร้าง ซึ่งทางกรมศิลปากรสามารถลงพื้นที่เข้าไปเก็บข้อมูลรายละเอียดทำทะเบียนข้อมูลเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานได้ และโบราณสถานที่อยู่ในที่ที่มีเจ้าของครอบครอง ซึ่งทางกรมศิลปากรจะต้องได้มีการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนว่ามีคุณค่ามากเพียงพอที่จะเป็นสมบัติของประเทศชาติ จึงขอขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน
ทั้งนี้ต้องได้รับความเห็นชอบยินยอมจากเจ้าของผู้ครอบครองด้วย ซึ่งหากไม่เห็นชอบก็จะต้องมีการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อพิจารณาตามกระบวนการกฎหมายต่อไป โดยทั้ง 2 ลักษณะจะต้องมีคณะกรรมการพิจารณาก่อนที่จะขอความเห็นชอบจากอธิบดีกรมศิลปากรเสียก่อน
สำหรับข้อมูลประวัติความเป็นมาของหอไตรไม้ดังกล่าวนี้ หัวหน้ากลุ่มงานอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 8 จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการสำรวจครั้งนี้ยังได้ข้อมูลเพียงเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการค้นหารวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมอีก เช่น ในเรื่องของประวัติการซ่อมบำรุง เพราะจากการดูสภาพของหอไตรดังกล่าวพบว่ามีการบูรณะซ่อมแซมมาแล้วบางส่วน ซึ่งยังไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ เป็นต้น ซึ่งผู้ที่มีข้อมูล ทั้งชุมชนดั้งเดิม ตลอดจนผู้ที่มีข้อมูลภาพถ่ายหรือเอกสารต่างๆ สามารถนำส่งให้ทางสำนักศิลปากรที่ 8 จังหวัดเชียงใหม่ได้ เพื่อประกอบการพิจารณาการขึ้นทะเบียนหอไตรแห่งนี้เป็นโบราณสถานต่อไป
อนึ่ง กรณีดังกล่าวนี้ของวัดอู่ทรายคำเริ่มเป็นที่รับรู้จากการที่แฟนเพจเฟซบุ๊ก “เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่” ได้ทำการแชร์โพสต์ของผู้ที่ใช้เฟซบุ๊ก Saowakhon Sriboonruang ที่โพสต์ข้อความว่า “เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร???? วันที่วัดสร้างอาคารใหม่ ติดกับหอไตรเก่าแก่งดงาม สูงตระหง่านค้ำหอไตร สูงกว่าเจดีย์ สูงกว่าวิหาร ฤาความเชื่อความยึดถือศรัทธาสิ้นมนต์ไปจากแผ่นดินล้านนาเสียแล้ว” พร้อมกับภาพถ่ายหอไตรที่สร้างจากไม้เกือบทั้งหลังอายุเก่าแก่ในวัดแห่งหนึ่งในตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งพื้นที่ติดกันนั้นทางวัดกำลังทำการก่อสร้างอาคารที่มีการขึ้นโครงสร้างเสาและเทพื้นแล้ว คาดว่าน่าจะมีความสูงไม่ต่ำกว่า 3 ชั้น และความสูงเบื้องต้นเท่ากันหรือสูงกว่าหอไตรแล้ว ซึ่งผู้ที่เห็นโพสต์ดังกล่าวต่างแสดงความเห็นว่าการสร้างอาคารสูงดังกล่าวค้ำหอไตรไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการที่วัดเป็นผู้สร้างเอง
ขณะที่ต่อมาแฟนเพจเฟซบุ๊ก “จับตาเชียงใหม่” ได้มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว โดยการโพสต์แชร์ข่าว “หดหู่! ชุมชนโพสต์ภาพวัดเชียงใหม่สร้างตึกประชิดและสูงค้ำหอไตรไม้เก่าแก่อายุกว่าร้อยปี-เหยียบย่ำศรัทธา” และมีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก ทั้งในแง่ความเหมาะสมและการตั้งคำถามถึงวัตถุประสงค์ในการสร้างอาคารให้ของทางวัด
ขณะเดียวกันยังได้มีการโพสต์ภาพห้องพักที่ดูคล้ายห้องพักโรงแรม ทั้งจากการจัดวางเตียงที่นอน และสิ่งอำนวยความสะดวกภายใน รวมทั้งยังได้มีการโพสต์ภาพที่ดูคล้ายระเบียบเกี่ยวกับการใช้ห้องพักด้วย ซึ่งระบุว่าเป็น “ศูนย์ที่พักอาคันตุกะสงฆ์ และผู้ติดตาม” วัดอู่ทรายคำ ตำบลช้างม่อย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และมีหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ ตลอดจนมีการระบุเกี่ยวกับบริการนวดแผนโบราณด้วย