xs
xsm
sm
md
lg

ตะลึง! พบ “พระพุทธรูปทองคำโบราณ” อายุร้อยกว่าปีที่นครพนม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นครพนม - พบพระพุทธรูปทองคำอายุกว่า 140 ปีในวัดศรีจำปา อ.นาแก ใต้ฐานมีอักษรลาวโบราณจารึก หล่อด้วยทองคำจากยอดเศียรถึงหน้าอก โดยสองผัวเมียชาวลาวตั้งแต่ปี 2416 เผยตามความเชื่อโบราณใครที่หล่อยอดเศียรพระพุทธด้วยทองคำแท้จะได้บุญสูงสุด แต่ต้องรอผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากรมาพิสูจน์อย่างละเอียด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีข่าวลือในพื้นที่จังหวัดนครพนมว่าได้มีการค้นพบพระพุทธรูปทองคำอยู่ภายในวัดศรีจำปา หมู่ที่ 5 บ้านซ่ง เขตเทศบาลตำบลนาแก อ.นาแก ถนนรัตนเพิ่มพูน ซอยติดกับรั้วโรงเรียนนาแกพิทยาคมเข้าไปประมาณ 200 เมตร ว่ากันว่ามีอายุเก่าแก่มากกว่า 100 ปี แต่ที่ผ่านมาไม่มีใครทราบเรื่องมากนัก

ผู้สื่อข่าวจึงเดินทางไปตรวจสอบ ทันทีที่ไปถึงวัดได้พบกับ พระ ดร.ตฤณ สุธิโต (ศุภโชคอุดมชัย) อายุ 52 ปี พระลูกวัดศรีจำปา หลังทราบวัตถุประสงค์ พระตฤณได้พาไปยังศาลาการเปรียญ สถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำ ซึ่งตั้งอยู่บนโต๊ะหมู่บูชารวมกับพระพุทธรูปองค์อื่นๆ มีขนาดสูง 59 ซม. หน้าตักกว้าง 40 ซม.

พระ ดร.ตฤณเล่าถึงประวัติของคำว่า “ซ่ง” ในภาษาลาวหมายถึง “แจ” แปลเป็นภาษาไทยคือ “มุม” ในอดีตชาวบ้านจะปลูกเรือนกันกระจัดกระจาย แต่ละชุมชนมีไม่กี่หลังคาเรือน จึงเป็นที่มาของคำว่า “บ้านซ่ง” ความหมายถึงมุมบ้านนั่นเอง

ส่วนที่มาของการค้นพบพระพุทธรูปทองคำองค์ดังกล่าว พระ ดร.ตฤณเล่าว่า วันหนึ่งได้ไปทำความสะอาดบริเวณโต๊ะหมู่บูชาที่มีพระพุทธรูปทองคำตั้งรวมอยู่ด้วย ได้พิจารณาเห็นว่าพระองค์นี้มีพุุทธลักษณะไม่เหมือนพระทั่วไป ลองเอามือเคาะดูจึงรู้ว่าเป็นเนื้อสัมฤทธิ์ จึงได้อัญเชิญลงมาจากโต๊ะหมู่บูชา ตั้งใจจะนำไปขัดทำความสะอาด ครั้นวางองค์พระไว้บริเวณกลางแจ้งของลานวัดต้องตกตะลึงเพราะใต้ฐานพระมีอักษรโบราณจารึกไว้ ด้วยความตกใจจึงรีบไปนิมนต์พระครูกิตติพัฒนสุนทร เจ้าอาวาสมาดู

แม้เจ้าอาวาสจะบวชตั้งแต่ยังเป็นสามเณรอยู่ที่วัดนี้มาตลอดหลายสิบปี กระทั่งเป็นสมภารก็ไม่เคยเห็นจารึกนี้ มีแต่กราบไหว้ทุกวัน

ครั้งแรกวิเคราะห์ว่าอักษรโบราณใต้ฐานน่าจะเป็นภาษาไทยน้อยที่มีอยู่บนใบลาน ภาษาชาวบ้านเรียกว่าอักษรธรรม เพื่อให้เกิดความกระจ่างแจ้งจึงไปนิมนต์พระคุณเจ้าผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรธรรมมาดูปรากฏว่าพระรูปนั้นอ่านไม่ได้ เพราะไม่ใช่อักษรธรรม แต่น่าจะเป็นภาษาลาวโบราณ บังเอิญในหมู่บ้านมีหญิงชาวลาวมามีครอบครัวอยู่ใกล้วัด จึงนำตัวมาให้ช่วยไขข้อข้องใจ

แต่หญิงคนลาวเห็นตัวอักษรไม่ชัดเจนจึงแปลไม่ออก พระ ดร.ตฤณนึกขึ้นได้สมัยเป็นฆราวาส มีคนบอกถ้าเห็นตัวหนังสือที่ฝังแล้วอ่านไม่ได้มองไม่ชัดลองใช้แป้งฝุ่นโรยใส่ดู ปรากฏว่าตัวอักษรโบราณดังกล่าวลอยเด่นขึ้นมาทันที หญิงชาวลาวจึงแกะออกมาได้ดังนี้

“หลอมคำด้วยสีเพ็ง พ.ศ. 2416 พ้อมนางมะนีจัน ของหลวงพ่อสีและข้าพเจ้าทั้งหลายและสามเณรสำเล็ดลงจากพ้อมนี้” แปลเป็นภาษาไทยได้ความว่า..หล่อทองคำโดยนายสีเพ็งสามี และนางมณีจันทร์ภรรยา พ.ศ. 2416 มีหลวงพ่อสีและสามเณร พร้อมฆราวาสสำเร็จลงพร้อมกันนี้..

จากข้อความดังกล่าวสันนิษฐานว่าพระพุทธรูปองค์นี้หล่อด้วยทองคำแท้แต่ปกปิดไว้ด้วยเนื้อสัมฤทธิ์ พระ ดร.ตฤณซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เป็นทุนเดิมอธิบายเหตุผลว่า คติความเชื่อของคนโบราณถ้าผู้ใดหล่อยอดเศียรพระพุทธด้วยทองคำแท้จะได้บุญสูงสุด สังเกตจากยอดเจดีย์หรือยอดพระธาตุต่างๆ จะเป็นทองคำทั้งหมด

เช่นเดียวกับพระองค์นี้ นายสีเพ็งพร้อมภรรยาเป็นผู้สร้างซึ่งเป็นชาวลาว นิมนต์พระคุณเจ้าคือหลวงพ่อสีเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ เชื่อว่าน่าจะหล่อด้วยทองคำตั้งแต่ยอดเศียรลงมาถึงพระอุระ (หน้าอก) ส่วนท่อนล่างสันนิษฐานน่าจะเป็นเนื้อสัมฤทธิ์อย่างเดียว แต่คงต้องรอผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากรมาพิสูจน์อีกครั้ง ส่วนที่ทำไมต้องหล่อปกปิดเนื้อทองคำไว้ คงจะป้องกันพวกโจรขโมยมาลักเอาทองคำไป และพระองค์นี้หล่อที่ประเทศลาว ก่อนจะอัญเชิญมาไว้ที่วัดศรีจำปา แต่ไม่ทราบว่ามาอยู่ในสมัยไหนใครเป็นเจ้าอาวาส

อน่างไรก็ตาม เท่าที่ค้นหาประวัติของวัด พบว่าอดีตเคยมีพระจากลาวมาเป็นเจ้าอาวาสชื่อพระมหาสุนี ส่วนมูลค่านั้นคงประเมินไม่ได้เพราะเจตนาของคนสร้างต้องการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นหลัก

พระตฤณเล่าต่อว่า หลังจากท่านได้ค้นพบพระพุทธรูปทองคำยังไม่กล้าเปิดเผยข้อเท็จจริงมากนัก แม้แต่พวกที่มีบ้านอยู่ข้างวัดยังรู้กันไม่กี่คน วันหนึ่งมีร่างทรงของศาลหลักเมืองนาแก ซึ่งเป็นข่าวดังว่าเคยประทับร่างทรงตำรวจยศ พ.ต.ท.นายหนึ่ง ประจำ สภ.นาแก ภายหลังตำรวจท่านนี้ได้ย้ายไป ร่างทรงศาลหลักเมืองนาแกจึงมาประทับร่างข้าราชการหญิงสังกัดสาธารณสุขจังหวัดแทน หญิงร่างทรงมาที่วัดทั้งที่ไม่ทราบเลยว่ามีพระพุทธรูปทองคำประดิษฐาน

ครั้นเดินถึงบันไดศาลาการเปรียญร่างทรงก็ร้องห่มร้องไห้ พร้อมบอกว่าพระองค์นี้มาจากประเทศลาว มีชื่อเรียกว่า “หลวงพ่อหมื่นคงอัตตะ” และประดิษฐานก่อนที่พระมหาสุนีจะเดินทางมารับตำแหน่งเจ้าอาวาส จึงสันนิษฐานท่านคงมากับคหบดีชาวลาวที่มีญาติพี่น้องอยู่ที่นี่

แต่เดิมหลวงพ่อหมื่นคงอัตตะพระทองคำประดิษฐานอยู่ในกุฏิกลางน้ำ ชาวบ้านเรียกว่า “สิมน้ำ” เจ้าอาวาสเกรงไม่ปลอดภัยจึงอัญเชิญมาไว้ที่ศาลาการเปรียญชั่วคราวก่อนในปี พ.ศ. 2522 ถือว่าเป็นปีที่ชาวบ้านนาแกปลาบปลื้มมาก เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จฯ มานมัสการพระพุทธรูปองค์นี้ โดยทรงขับรถยนต์พระที่นั่งมาด้วยพระองค์เอง มาถึงวัดแห่งนี้ประมาณหนึ่งทุ่มเศษ จึงจะเห็นรูปปั้นครุฑอยู่บนยอดสิมน้ำ ซึ่งปัจจุบันได้เสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา

แต่ทางวัดก็มีหนังสือแจ้งไปยังสำนักพระราชวังเพื่อขอบูรณะ หากได้รับอนุญาตก็จะสร้างให้มั่นคงแข็งแรง จากนั้นก็อัญเชิญหลวงพ่อหมื่นคงอัตตะพระทองคำไปประดิษฐานที่เดิม โดยจะจัดงานเฉลิมฉลองทุกปี ปีละ 5 วัน 5 คืน ซึ่งวัดแห่งนี้จดเป็นคามวาสีเมื่อปี 2483 ถือว่าเก่าแก่พอสมควร

พระ ดร.ตฤณ ผู้ค้นพบพระพุทธรูปทองคำกล่าวว่า แม้ออกพรรษาผ่านไปแล้วท่านต้องลาสิกขาบทเพื่อไปทำหน้าที่ครูเหมือนเดิม แต่จะต้องสานงานต่อจนกว่าจะสำเร็จลุล่วง ก่อนจะมอบหมายให้คณะกรรมการวัดเป็นผู้รับผิดชอบต่อไป

ทั้งนี้ หากผู้ใดต้องการจะไปกราบไหว้ขอพรหลวงพ่อหมื่นคงอัตตะ สามารถโทรศัพท์สอบถามเส้นทางกับท่านได้ที่ 08-7234-3638 และตามจารึกใต้ฐานพระว่าสร้าง พ.ศ. 2416 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 (2411-2453) นับถึงปัจจุบันมีอายุถึง 143 ปี ถือเป็นพระพุทธรูปทองคำโบราณที่จะเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองประจำ อ.นาแกต่อไป
พระ ดร.ตฤณ สุธิโต




กำลังโหลดความคิดเห็น