xs
xsm
sm
md
lg

คนพิจิตรถวายฎีกา “สมเด็จพระเทพฯ” รับบึงสีไฟเข้าโครงการพระราชดำริก่อนสิ้นสภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พิจิตร - ชาวเมืองพิจิตรหวั่น “บึงสีไฟ” สิ้นสภาพ ร่วมลงชื่อถวายฎีกาขอ “สมเด็จพระเทพฯ” รับไว้ในโครงการพระราชดำริ หลังเกิดปัญหาแห้งขอดซ้ำซาก-เก็บกักน้ำไม่ได้ แถมเกิดปัญหาไฟไหม้วัชพืชกลางบึงมาแทบทุกปี หลายหน่วยงานพยายามแก้แล้วแต่ไม่สำเร็จ

วันนี้ (13 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากชาวจังหวัดพิจิตรกว่า 4 พันคนลงชื่อร่วมถวายฎีกา ขอพระราชทานความเมตตาจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้ทรงรับ “บึงสีไฟ” ไว้ในโครงการพระราชดำริ เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมา บึงสีไฟแหล่งน้ำจืดอันดับ 3 ของประเทศ เนื้อที่ 5,300 ไร่เศษ อยู่ในสภาพแห้งขอด เกิดปัญหาไฟลุกไหม้วัชพืชกลางบึงเป็นประจำ ทั้งยังไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ หลายหน่วยงานพยายามแก้ไขแต่ยังไม่สำเร็จ ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนไม่มีน้ำทำนาในหน้าแล้ง

ล่าสุดนางฉัตรพร ราษฎร์ดุษดี ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร, นายบุญเวทย์ ศรีพวงใจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร พร้อมด้วย พล.ท.ฉลวย แย้มโพธิ์ใช้ คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ในนามตัวแทนชาวบ้าน ตลอดจนตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประชุมร่วมกันที่ห้องประชุมชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดพิจิตร โดยมีนายหทัย วสุนันต์ ผู้อำนวยการสำนักประสานงานโครงการพื้นที่ 3 สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เข้าประชุมร่วมด้วยเพื่อหาข้อเท็จจริงจากกรณีดังกล่าว

คณะทำงาน กปร.จะขอเข้าศึกษาว่า ถ้าจะเสนอบึงสีไฟเป็นโครงการในพระราชดำริจะต้องมีองค์ประกอบ 3 ข้อ คือ พระองค์ท่านต้องทรงวินิจฉัยเห็นสมควร, เป็นเรื่องความเดือดร้อนของราษฎรที่ถวายฎีกา แต่ต้องไม่ขัดกับข้อกฎหมายหรือเรื่องที่ดิน รวมถึงต้องไม่ก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ราษฎร หรือเป็นเรื่องที่ทางราชการขอให้พระองค์ทรงวินิจฉัย

ด้านนางฉัตรพร ผู้ว่าฯ พิจิตร ได้กล่าวในที่ประชุมว่า จังหวัดพิจิตรไม่มีธงในการเสนอ แต่อยากได้คำแนะนำจาก กปร.เพื่อจะได้เริ่มต้นอย่างถูกต้องในการสร้างมาสเตอร์แพลนที่ทุกคนจะได้เดินตามไปในทิศทางเดียวกัน

ทั้งนี้ ตัวแทนกรมเจ้าท่าแจ้งว่า ในบึงสีไฟมีหน่วยงานต่างๆ เข้าใช้พื้นที่ไปแล้ว 15 แปลง ดังนั้น หากจะทำบึงสีไฟเป็นแก้มลิงตามโครงการพระราชดำริก็คงไม่ติดขัดปัญหาใด

นายบุญเวทย์ รองผู้ว่าฯ พิจิตร เปรียบเทียบว่า “ทุกวันนี้บึงสีไฟกลายเป็นแหล่งประลองความรู้ของหลายหน่วยงาน ถกเถียงกันหาข้อยุติไม่ได้ ดังนั้นหากมีพระเมตตา ก็เหมือนกับลูกที่มีพ่อ มีแม่เป็นคนกลางตัดสินให้ ซึ่งก็จะได้ก่อให้เกิดความศรัทธาในหมู่ราษฎรที่จะปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน เหมือนมีธงนำสู่เส้นชัย”

น.ส.สุวิชญา พันธุเมฆ ตัวแทน ทสจ.พิจิตร ให้ข้อมูลว่า การจะทำบึงสีไฟเป็นแก้มลิง ล่าสุดมีมติ ครม. เมื่อ 12 พ.ย. 58 ปลดล็อกเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือ EIA แล้ว

ขณะที่นายอนันต์ เพ็ชร์หนู ผอ.ส่วนการประสานและบริหารจัดการลุ่มน้ำน่าน สนง.ทรัพยากรน้ำภาค 9 และ นายสมยศ แสงมณี ผอ.โครงการชลประทานพิจิตร ระบุว่า พร้อมที่จะน้อมรับในการร่วมพัฒนาบึงสีไฟเป็นแก้มลิงเพื่อกักเก็บน้ำ รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยจะขออิงระเบียบ และเสียงประชาชนให้มากที่สุด

ด้าน พล.ท.ฉลวย แย้มโพธิ์ใช้ คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ในนามตัวแทนราษฎร กล่าวว่า อยากให้บึงสีไฟเป็นต้นแบบของการแก้ไขปัญหาคน สถานที่ กฎหมาย งบประมาณ แนวความคิดในเรื่องน้ำทั้งระบบ เพื่อให้บึงสีไฟเป็นแหล่งเรียนรู้ โดยคณะทำงานของ กปร.ขอให้จังหวัดพิจิตรทำแผนรวบรวมโครงการเร่งด่วน โครงการระยะสั้น-กลาง-ยาว เพื่อจะพิจารณาต่อไป

ในโอกาสนี้คณะทำงานของ กปร. ซึ่งประกอบด้วย นายธนฤทธิ์ รัชตะปะกร นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ (กปร.), นายศุภรัชต์ อินทราวุธ ผอ.กลุ่มประสานพื้นที่ 32, นายหทัย วสุนันต์ ผอ.กองประสานโครงการพื้นที่ 3 พร้อมด้วย ดร.สุรชัย มณีประกร นายอำเภอเมืองพิจิตร และ พ.ท.คมจักร ชัยชนะ สัสดีอำเภอเมืองพิจิตร ได้ร่วมกันลงพื้นที่ ต.ป่ามะคาบ และ ต.ท่าฬ่อ

ทั้งนี้ เนื่องจากนายอนันต์ สุรารัตน์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 และชาวตำบลป่ามะคาบ อ.เมืองพิจิตร, นายประโยชน์ อ่อนละมูล พร้อมชาวบ้านหมู่ 2 ต.ท่าฬ่อ อ.เมืองพิจิตร ได้ทำหนังสือส่งถึงสำนักราชเลขาฯ ถวายฎีการ้องทุกข์ต่อสมเด็จพระเทพฯ ขอให้พระราชทานความเมตตาพัฒนาแหล่งน้ำหลายโครงการในหมู่บ้านที่เป็นเรื่องเกินกำลังของท้องถิ่น





กำลังโหลดความคิดเห็น