ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สถาบันคีนันแห่งเอเชีย ร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดหลักสูตรอบรมครูฝึกพัฒนาฝีมือแรงงาน สาขาวิชาออโตเมชัน และแม็กคาทรอนิกส์ชั้นสูง ดึงครูฝึกจากทั่วประเทศเข้าร่วมพัฒนาและยกระดับความรู้ให้เท่าทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ หวังนำไปถ่ายทอดเพิ่มทักษะฝีมือชั้นสูงให้แรงงานทั่วประเทศ รองรับนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรม
สถาบันคีนันแห่งเอเชีย ร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และบริษัท FESTO จำกัด จัดการอบรมครูฝึกพัฒนาฝีมือแรงงาน สาขาวิชาออโตเมชัน และแม็กคาทรอนิกส์ชั้นสูง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งภายใต้โครงการ Chevron Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต โดยจัดการอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ในสาขาวิชาออโตเมชัน และแม็กคาทรอนิกส์ชั้นสูงจากผู้เชี่ยวชาญให้แก่ครูฝึกพัฒนาฝีมือแรงงานจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ เข้าร่วมการอบรมครั้งนี้ระหว่างวันที่ 29 ส.ค. 59 - 9 ก.ย. 59 ที่โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพครูฝึกในการนำไปถ่ายทอดความรู้และเพิ่มศักยภาพให้แก่แรงงานทั่วประเทศให้มีทักษะฝีมือแรงงานพร้อมรองรับนโยบาย ประเทศไทย 4.0
รองศาสตราจารย์ ดร.เสริมเกียรติ จอมจันทร์ยอง ที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันคีนันแห่งเอเชีย กล่าวว่า การจัดการอบรมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Chevron Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ที่มีวัตถุประสงค์มุ่งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่านการพัฒนาศักยภาพแรงงานวิชาชีพที่มีทักษะฝีมือและพื้นฐานด้าน STEM หรือ Science, Technology, Engineering, Math เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพแรงงานให้แก่ 4 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์, อุตสาหกรรมพลังงาน, อุตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรมไมโครอิเล็กโทรนิกส์ เพื่อตอบสนองทิศทางการพัฒนาประเทศตามนโยบาย “ประเทศไทย 4.0”
โดยจัดการอบรมครูฝึกพัฒนาฝีมือแรงงาน สาขาวิชาออโตเมชัน และแม็กคาทรอนิกส์ชั้นสูงในครั้งนี้ ต้องการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพครูฝึกของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ระบบออโตเมชัน, การควบคุมหุ่นยนต์เคลื่อนที่โดยใช้ Wireless และการเขียนโปรแกรมควบคุมเครื่องจักร เป็นต้น เพื่อนำความรู้ไปถ่ายทอดให้แก่แรงงานที่เข้าสู่อุตสาหกรรมให้มีทักษะความสามารถความต้องการของภาคเอกชน
ขณะที่นายนัครินทร์ คฤหาสน์สุวรรณ นักวิชาการชำนาญการ สำนักพัฒนาผู้ฝึกและเทคโนโลยีการฝึก กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า ทิศทางการพัฒนาประเทศตามนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” เป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ซึ่งการปรับเปลี่ยนดังกล่าวต้องประกอบด้วย 4 องค์ประกอบหลักที่ต้องเปลี่ยนแปลงร่วมกันทั้งระบบ ซึ่ง 1 ใน 4 องค์ประกอบที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงแรงงานทักษะต่ำไปสู่แรงงานที่มีทักษะสูง มีความรู้และมีความเชี่ยวชาญซึ่งปัจจุบันยังมีความต้องการแรงงานกลุ่มนี้เป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ ในส่วนของครูฝึกพัฒนาฝีมือแรงงานถือว่ามีส่วนสำคัญและจำเป็นอย่างมากในการที่ช่วยยกระดับและเพิ่มศักยภาพให้กับแรงงานในการเปลี่ยนแปลงแรงงานทักษะต่ำไปสู่แรงงานที่มีทักษะสูง ที่ผ่านมาทางกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้เตรียมการมาโดยตลอดในการฝึกทักษะครูเพื่อนำความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปถ่ายทอดและเสริมศักยภาพให้แก่แรงงานทั่วประเทศ ขณะที่การจัดการอบรมในครั้งนี้ที่เป็นความร่วมมือกับสถาบันคีนันแห่งเอเชีย และบริษัท FESTO จำกัด มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาครูฝึกเพื่อนำความรู้ไปถ่ายทอดยกระดับและเพิ่มศักยภาพให้แก่แรงงาน และตอบสนองนโยบายการพัฒนาประเทศ รวมทั้งทิศทางของอุตสาหกรรมในปัจจุบันและอนาคตที่ต้องขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมได้เป็นอย่างดี
เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถฝึกอบรมและพัฒนาแรงงานทั่วประเทศได้ปีละประมาณ 1,000 คน
“การอบรมครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันคีนันแห่งเอเชียกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดทำหลักสูตรนี้ที่มีระยะเวลาการอบรม 10 วัน ขึ้นมาเน้นในเรื่องของระบบออโตเมชันยุคใหม่ ในภาพรวมทั้งหมด นับตั้งแต่ตัวอุปกรณ์ทำงาน จนกระทั่งตัวควบคุมซึ่งเป็นภาพรวมของระบบที่ใช้ในกลไกขับเคลื่อนของอินดัสเทรียล 4.0 โดยให้เรียนภาพรวมทั้งหมดตั้งแต่การทำงานทั่วๆ ไป จนกระทั่งถึงการควบคุมระบบผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งหลักสูตรนี้ส่วนใหญ่ที่เข้าอบรมจะเป็นครูฝึกที่เคยฝึกอบรมให้แก่แรงงานในสถานประกอบการอยู่แล้ว เมื่อผ่านการอบรมก็จะได้นำองค์ความรู้ที่ได้ไปขยายผลฝึกอบรมให้แรงงานต่อไป โดยการนำไปประยุกต์ใช้ตามสถานประกอบการที่ฝึกอบรม และเนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ เนื่องจากการที่จะมาเรียนหลักสูตรเหล่านี้ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง” นายนัครินทร์กล่าว
ด้านนายชำนาญ หีบพร ผู้จัดการฝ่ายการศึกษา บริษัท FESTO จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันการพัฒนาผลิตภัณฑ์, กระบวนการผลิต หรือเครื่องจักรกลสมัยใหม่ จะต้องอาศัยความรู้ทั้งทางวิศวกรรมเครื่องกล, วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์, วิศวกรรมระบบควบคุม, วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และวิศวกรรมการผลิต จึงจะสามารถออกแบบ สร้าง และบำรุงรักษาผลิตภัณฑ์เครื่องจักรกลสมัยใหม่ต่างๆ ได้ ซึ่งวิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์จึงเป็นหลักสูตรวิศกรรมสมัยใหม่ที่มุ่งผลิตวิศวกรให้มีความรู้ความสามารถในการออกแบบ วิเคราะห์ สร้าง บำรุงรักษาเครื่องจักรกลสมัยใหม่ เช่น หุ่นยนต์ เครื่องจักรที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ และการนำคอมพิวเตอร์มาช่วยในการออกแบบ วิเคราะห์ และผลิตด้วยกระบวนการอัตโนมัติ
จากการที่ภาคอุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลงไปใช้ระบบออโตเมชันมากขึ้น จึงเป็นความจำเป็นที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจะต้องเร่งพัฒนาทักษะแรงงานให้มีความรู้ด้านเทคโนโลยีรูปแบบใหม่และพัฒนาประสิทธิภาพให้สูงขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคเอกชนและทิศทางอุตสาหกรรมในอนาคต
ส่วนนายชุมพล มาลัยนวล ครูฝึกสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 4 (ราชบุรี) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมอบรม กล่าวว่า การได้เข้าร่วมอบรมครูฝึกพัฒนาฝีมือแรงงานสาขาวิชาออโตเมชัน และแม็กคาทรอนิกส์ชั้นสูง ในครั้งนี้ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในการทำให้ครูฝึกจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรม 4.0 มากขึ้น รวมทั้งได้พัฒนาและยกระดับความรู้ให้เท่าทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ยิ่งขึ้นสำหรับนำไปถ่ายทอดให้แก่แรงงานในสถานประกอบการต่างๆ