xs
xsm
sm
md
lg

ไทยออยล์ ขยายโรงกลั่น ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ไร้มลพิษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวศรีราชา - บ.ไทยออยล์ ทุ่มงบนับแสนล้านขยายโรงกลั่นส่วนขยายครั้งที่ 5 โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ไร้มลพิษ หากได้รับอนุญาตคาดว่าสามารถเริ่มดำเนินการผลิตประมาณปี พ.ศ.2564 นี้

วันนี้ (7 ก.ย.) นายธานี เกียรติพิพัฒนกุล รองนายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง นายบุญเลิศ น้อมศิลป์ ประธานที่ปรึกษานายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง คณะผู้บริหารบริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) บริษัทที่ปรึกษาโครงการ และประชาชนในเขตพื้นที่แหลมฉบัง และพื้นที่ใกล้เคียงนับ 1,000 คน ร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียต่อการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการและมาตรการสิ่งแวดล้อม ณ ศาลาประชาคมอ่าวอุดม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

นายพงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส-พัฒนาโครงการบริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อชี้แจงการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการและมาตรการสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ใกล้โรงกลั่นได้รับทราบ โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีที่ทันสมัยในหน่วยบำบัดมลพิษทางอากาศ ที่จะสร้างใหม่ของโครงการพลังงานสะอาด Clean Fuel Project หรือ CFP

โดยโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ มีแผนจะดำเนินโครงการโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ (ส่วนขยาย ครั้งที่ 5) หรือโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ซึ่งมีการติดตั้งหน่วยกลั่นน้ำมันดิบใหม่ คาดว่าจะใช้งบนับแสนล้านบาท เพื่อทดแทนหน่วยเดิมที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่า โดยจะทำให้กำลังการกลั่นน้ำมันดิบรวมของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นจาก 280,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 450,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเดิมเทคโนโลยีการบำบัดมลพิษทางอากาศยังมีกากของเสีย (ยิปซัม) ต้องส่งไปบำบัด แต่เทคโนโลยีใหม่เปลี่ยนจากกากของเสียเป็นผลิตภัณฑ์ (กรดกำมะถัน) ส่งขายได้ นอกจากนั้นหน่วยเปลี่ยนก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ หน่วยใหม่จะมีประสิทธิภาพดีกว่าค่าอัตราการระบายมวลสารทางอากาศโดยรวมมีค่าลดลงเมื่อมีโครงการ (CFP)

นายพงษ์พันธุ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับบริเวณที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชนนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงและติดตั้งเทคโนโลยีที่ทันสมัยเสริมเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น เช่น ใช้เชื้อเพลิงที่สะอาด คือก๊าซธรรมชาติ และก๊าซเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิต ใช้ระบบหัวเผาที่ช่วยลดการระบายก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพอากาศจากปล่องระบายอากาศตลอดเวลา ติดตั้งเครื่องดักฝุ่นก่อนระบายอากาศออกจากปล่อง และติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศแบบต่อเนื่องตามแหล่งชุมชนต่างๆ

นอกจากนั้น เครือไทยออยล์ได้ร่วมฝึกซ้อมแผนฉุกเฉิน แผนบรรเทาและป้องกันสาธารณภัยอย่างต่อเนื่อง มีแผนร่วมกับเทศบาลนครแหลมฉบัง และชุมชนใกล้เคียงโรงกลั่น เพื่อจัดทำแผนอพยพกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

นายพงษ์พันธุ์ กล่าวว่า โครงการขยายโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ (ส่วนขยาย ครั้งที่ 5) นั้น หากได้รับความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้วก็สามารถดำเนินการก่อสร้างในระยะเวลา 3-5 ปี คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการผลิตได้ประมาณปี พ.ศ.2564 นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น