span style="color: #0000ff;">ศูนย์ข่าวศรีราชา - ไทยออยล์ ร่วมประชุมกับคณะกรรมการชุมชนบ้านอ่าวอุดม และนักวิชาการ เพื่อวางแนวทางป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการขยายโรงงาน พร้อมนำเสนอหลายแนวทาง ด้านโรงงานรับข้อเสนอ หวังให้ทั้ง 2 ฝ่ายอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุมอาคารอเนกประสงค์ บริษัไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี นายสนธิ คชวัฒน์ ประธานที่ปรึกษาได้มีการประชุมคณะกรรมการโครงการประสานความเข้าใจบ้านอ่าวอุดม และที่ปรึกษาโครงการ โดยมีผู้บริหารบริษัทไทยออยล์ ตัวแทนชุมชนบ้านอ่าวอุดม เข้าร่วมประชุม
นายสนธิ คชวัฒน์ ประธานที่ปรึกษา กล่าวถึงการประชุมในครั้งนี้ว่า ได้พูดถึงโครงการพลังงานสะอาด clean Fuel Project (CFP) โดยการขยายโรงกลั่นไทยออยล์ (ส่วนขยายครั้งที่ 5) จากกำลังการผลิตเดิม 280,000 บาร์เรลต่อวัน ไปเป็น 450,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งขณะนี้ทางโรงกลั่นอยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการต่อไป
สำหรับโครงการดังกล่าวจะสร้างในปี 2561 จะแล้วเสร็จพร้อมเปิดดำเนินการในปี 2564 นั้น โดยทางบริษัทไทยออยล์ ได้นำเสนอแผนในการดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ในที่ประชุมได้รับทราบ โดยประชาชนในชุมชนอ่าวอุดม เป็นห่วงปัญหาที่อาจจะส่งผลกระทบ โดยเสนอให้ทางบริษัทไทยออยล์ปรับปรุงแก้ไข เช่น ติดตั้งเครื่องตรวจวัดอากาศถาวร บริเวณชุมชนบ้านอ่าวอุดม ที่อยู่ใกล้โรงกลั่น และได้รับผลกระทบมากที่สุด นอกจากนั้น จะต้องติดตั้งเครื่องตรวจวัดค่าออนไลน์ของเบนซีน เพื่อให้ประชาชนในชุมชนได้รับทราบ
นายสนธิ กล่าวต่อไปว่า ชาวบ้านในชุมชนอ่าวอุดม ยังหวั่นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ขณะนี้กำลังจะขยายกำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้น จึงหวั่นปัญหา และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ จึงต้องวางแนวทางในการป้องกัน เช่น ระบบน้ำเสียของโรงกลั่นน้ำมันในภาพรวมว่า น้ำเสียมีการบำบัด และปล่อยทิ้งออกนอกโรงงานแบบไหน ซึ่งจะต้องนำแบบแปลนดังกล่าวมาให้ชุมชนได้ดูเพื่อเห็นภาพในการประชุมครั้งต่อไป
นอกจากนั้น จะต้องมีแผนอพยพชุมชนอ่าวอุดม อย่างเป็นรูปธรรม และชัดเจน โดยควรจะมีแผนอพยพชุมชนอ่าวอุดม หากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นแยกออกมาจากชุมชนอื่นๆ เพราะอยู่ใกล้โรงงานมากที่สุด ไม่ใช่เพียงแผนอพยพของโรงงานเท่านั้น
นายสนธิ กล่าวว่า สำหรับในช่วงการดำเนินการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันนั้น จะมีแรงงานกว่า 3,000 คน เข้ามาทำงานในโรงกลั่น แต่จะไม่มีการตั้งแคมป์คนงานในพื้นที่โรงกลั่น หรือในบริเวณชุมชนอย่างเด็ดขาด โดยให้แรงงานเดินทางมาทำงาน หลังเลิกงานก็เดินทางกลับที่พักนอกพื้นที่
สำหรับในช่วงการก่อสร้างนั้นจะมีรถบรรทุก หรือเครื่องจักรต่างๆ เข้ามาทำงาน โดยหวั่นปัญหาการจราจรภายในชุมชน เนื่องจากปัจจุบันการจราจรก็แออัดมากแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ ทางไทยออยล์รับปากจะไม่ใช้เส้นทางการจราจรภายในชุมชนอย่างเด็ดขาด โดยจะใช้เส้นทางของโรงกลั่นเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม หากจะใช้เส้นทางภายในชุมชน ทางไทยออยล์ จะแจ้ง และจัดการจราจรเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา
นายสนธิ กล่าวต่อไปว่า สำหรับข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ชาวชุมชนอ่าวอุดมเสนอไปนั้น ทางไทยออยล์ จะต้องนำข้อมูลดังกล่าวไปเพิ่มเติมในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมนำมาตรการนั้นมาให้ชุมชนดูก่อนว่ามีการบรรจุไว้ในแผนหรือเปล่า ก่อนจะนำแผนงานดังกล่าวไปเสนอ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม พิจารณาต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม การประชุมร่วมกับชุมชนนั้นจะต้องมีการหารือกันอีก 2 รอบ
สำหรับเรื่องที่ชุมชนอ่าวอุดม ให้ความสนใจ และเสนอให้โรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์พิจารณา คือ เงินกองทุนสุขภาพ โดยต้องการให้ไทยออยล์ สนับสนุนโครงการนี้เพื่อนำเงินไปเยียวยาชาวบ้านที่ป่วย ซึ่งสามารถนำเงินกองทุนดังกล่าวไปดูแลรักษาสุขภาพ หากเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาจะได้มีเงินกองทุนที่จะดูแลรักษา โดยชาวบ้านมีการเสนอโครงการดังกล่าวมานานเป็นปีแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากผู้บริหารระดับสูงแต่อย่างใด
นายสนธิ กล่าวว่า สำหรับเงินกองทุนสุขภาพที่ชาวบ้านเรียกร้องเพื่อต้องการนำเงินกองทุนไปดูแลความเป็นอยู่ของชาวบ้านให้ดีขึ้น โดยมีคณะกรรมการหลายฝ่ายดูแลตรวจสอบโครงการนี้ให้มีความโปร่งใส เพราะที่ผ่านมา ทางโรงกลั่นได้ดูแลชุมชน และสังคมแล้วในระดับหนึ่ง แต่บางกรณีที่ไม่เกี่ยวกับชาวบ้านในพื้นที่นั้น ชาวบ้านขอให้หยุดดำเนินการในส่วนนั้นก่อน เพื่อนำเงินมาช่วยเหลือหรือสนับสนุนเงินกองทุนสุขภาพดังกล่าว เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้ตรงจุด
ด้าน นายเลอเลิศ อมรสังข์ กล่าวว่า ข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ชาวบ้านเสนอให้โรงกลั่นไทยออยล์ ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงในสิ่งต่างๆ นั้น ทางโรงกลั่นพร้อมดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว ส่วนเรื่องกองทุนสุขภาพนั้น ทางคณะกรรมการฯ ได้เสนอเรื่องดังกล่าวถึงผู้บริหารระดับสูงแล้ว โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้บริหารในขณะนี้ ซึ่งเนื่องจากบริษัทไทยออยล์ จำกัด เป็นบริษัทฯ ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ การจะนำเงินไปใช้จ่ายนั้นต้องมีหลักการ และเหตุผลที่ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ยังไม่สิ้นหวัง โดยจะเสนอรูปแบบให้ผู้บริหารชัดเจนเพิ่มมากขึ้น
ด้าน นางสุนันท์ เสียงดัง ประธานชุมชนบ้านอ่าวอุดม กล่าวว่า โครงการเงินกองทุนสุขภาพนั้น เป็นการนำเงินมาดูแลชาวบ้านในพื้นที่ที่อยู่ใกล้โรงกลั่น และได้รับผลกระทบมากที่สุด และที่ผ่านมา การช่วยเหลือของไทยออยล์ พอใจในระดับหนึ่ง แต่ถือว่ายังไม่ตรงจุดหรือ เนื่องจากชาวบ้านมีปัญหาตรงจุดนี้ แต่กลับไปแก้ไขตรงจุดอื่นแทน ดังนั้นขอให้คณะผู้บริหารระดับสูงควรจะพิจารณาในเรื่องนี้ให้รอบคอบด้วย เพราะเป็นความต้องการของชุมชนบ้านอ่าวอุดม
“ในช่วงนี้เงินกองสุขสุขภาพยังไม่ได้รับการพิจารณา โดยเบื้องต้น ขอให้โรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์นำชาวบ้านในชุมชนไปตรวจเลือด เพื่อให้รู้ว่าสุขภาพของชาวบ้านบริเวณนั้นมีปัญหาด้านสุขภาพหรือไม่อย่างไร เพื่อจะได้วางแนวทางแก้ไขป้องกันต่อไป” นางสุนันท์ กล่าว