xs
xsm
sm
md
lg

รมว.เกษตรฯ ตรวจสถานการณ์น้ำสั่งเร่งระดมทำฝนหลวงเติมน้ำ 4 เขื่อนหลัก(ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตาก - รมว.เกษตรฯ เดินทางดูสภาพปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลพบยังมีปริมาณน้อย สั่งเร่งดำเนินการเติมน้ำ 4 เขื่อนหลัก พร้อมระดมเครื่องบินปฏิบัติการทำฝนเหนือเขื่อนภูมิพล


เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (2 ก.ย.) ที่เขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางมาตรวจราชการเกี่ยวกับสถานการณ์รับมือภัยแล้ง และเร่งทำฝนหลวงเติมน้ำให้เขื่อนภูมิพล พร้อมเปิดเผยว่าจากการคาดการณ์สถานการณ์น้ำของกรมชลประทาน จาก 4 เขื่อนหลัก โดยต่ำกว่าค่าฝนเฉลี่ย 10% ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำใช้การ 5,837 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยมีปริมาณน้ำใช้การ 896 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำใช้การ 950 ล้าน ลบ.ม. รวมมีปริมาณน้ำใช้การได้ในลุ่มเจ้าพระยาทั้งสิ้น 7,683 ล้าน ลบ.ม

โดยมีแผนการบริหารจัดการน้ำ เพื่อจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในฤดูแล้ง จัดสรรน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ รวมทั้งกันน้ำไว้สำหรับการเพาะปลูกและการอุปโภคบริโภคในช่วงต้นฤดูฝน รวม 3,800 ล้าน ลบ.ม. หักแล้วมีปริมาณน้ำ 3,883 ล้าน ลบ.ม.

ขณะเดียวกัน การสำรองน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค, รักษาระบบนิเวศและพืชต่อเนื่อง การเตรียมแปลงในช่วงต้นฤดูฝนปี 2560 (พฤษภาคม-กรกฎาคม) รวมแล้วมีปริมาณน้ำ 3,550 ล้าน ลบ.ม. คงเหลือปริมาณน้ำใช้การได้เพื่อการเกษตรในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 333 ล้าน ลบ.ม. โดยต้องส่งปริมานน้ำเพื่อการเกษตรจะใช้ในการสนับสนุนพื้นที่การปลูกข้าวเป็นประจำ 2.0 ล้านไร่ ส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่การเกษตร ปี 2559/60 จำนวน 0.21 ล้านไร่

จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรโดยรวมของประเทศ จึงได้มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งดำเนินการเติมน้ำ 4 เขื่อนหลัก

จากผลการดำเนินงานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ตั้งแต่ 15 ก.พ. 2559 - 30 ส.ค. 2559 มีพื้นที่ได้รับการช่วยเหลือ รวม 159.125 ล้านไร่ มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนสะสม รวม 35 เขื่อน 1,856.44 ล้าน ลบ.ม. และมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนสะสม รวม 4 เขื่อนหลัก 1,305.98 ล้าน ลบ.ม. โดยแบ่งเป็น เขื่อนภูมิพล 698.25 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 463.67 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยฯ 53.16 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 90.9 ล้าน ลบ.ม.

อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนสะสมของทั้ง 4 เขื่อนหลักถือว่ามีปริมาณที่น้อยมาก โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล ดังนั้น เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร จึงเน้นเติมน้ำในเขื่อนภูมิพลเป็นหลัก เนื่องจากเป็นเขื่อนใหญ่และมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย และกำหนดให้กรมฝนหลวงฯ เตรียมแผนรับมือฝนทิ้งช่วงเดือนกันยายนและตุลาคม 2559 ไว้เรียบร้อยแล้วโดยเร่งปฏิบัติการเติมน้ำเขื่อนภูมิพล ด้วยการระดมหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ ที่กองบิน 41 ชนิดกาซ่า จำนวน 2 เครื่อง หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดตาก ที่ท่าอากาศยานตาก มีเครื่องบินชนิดกาซ่า จำนวน 2 เครื่อง หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดพิษณุโลก ที่กองบิน 46 มีเครื่องบินรวม 4 เครื่อง ได้แก่ ชนิดกาซ่า 1เครื่อง ชนิดซูเปอร์คิงแอร์ 1 เครื่อง และปรับแผนการดำเนินงานโดยเพิ่มเครื่องบินชนิดเอยู-23 (กองทัพอากาศ) 2 เครื่อง รวมทั้งหมด 8 เครื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติการฝนหลวง

สำหรับแนวทางการรับมือสถานการณ์น้ำตามการคาดการณ์ของกรมชลประทาน ปี 2559/60 คือ การปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อลดรอบการปลูกข้าวนาปรัง ตามโครงการปรับเปลี่ยนเป็นปลูกพืชที่หลากหลาย โดยมีเป้าหมายพื้นที่ 300,000 ไร่ เกษตรกร 60,000 ครัวเรือน และโครงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนนาปรัง พื้นที่เป้าหมาย 500,000 ไร่ เกษตรกร 25,000 ราย การบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ นโยบายประหยัดน้ำเพื่อเก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้ง และเร่งรัดดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาการปฏิบัติงานของเกษตรกร โดยการถอดบทเรียนจากปี 2559


กำลังโหลดความคิดเห็น