xs
xsm
sm
md
lg

ติวเข้มเครือข่ายดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย หวังให้ขอนแก่นเป็นต้นแบบพื้นที่อื่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น - รพ.ขอนแก่นผนึกพลังศูนย์การุณรักษ์ คณะแพทย์ศาสตร์ มข. ติวเข้มเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย Palliative Care ภาคอีสาน มุ่งพัฒนาการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หวังให้เขตพื้นที่อื่นนำไปเป็นต้นแบบต่อ

นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานคนที่ 2 คณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า ในประเทศไทยจำนวนของผู้สูงอายุมีสัดส่วนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าภายใน 40 ปีนี้ประชากรผู้สูงอายุจะเป็นหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งหมดซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่ที่เราต้องเผชิญ เนื่องจากประชากรผู้สูงอายุจะมีการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังสูงขึ้น เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันสูง โรคหัวใจ เป็นต้น การพัฒนาอย่างรวดเร็วทางการแพทย์ มีการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในการรักษาหรือช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคต่างๆ ในอดีตซึ่งไม่สามารถรักษาได้หรือผลการรักษาไม่ได้ผลดี แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์สามารถช่วยให้ผู้ป่วยเหล่านี้มีชีวิตยืนยาวขึ้น หมายถึงการรักษาที่ยาวนานยืดเยื้อ และเมื่อโรคเข้าสู่ระยะท้าย ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะทนทุกข์ทรมานจากการรักษาที่ไม่ก่อเกิดประโยชน์ รวมถึงได้รับการรักษาที่มุ่งยื้อชีวิต แม้อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้

“การตัดสินใจเลือกทางเลือกในการรักษาด้วยวิธีต่างๆ ที่มักกระทำโดยครอบครัว โดยผู้ป่วยไม่มีส่วนร่วม บางครั้งการรักษาดังกล่าวอาจไม่ใช่แนวทางที่ผู้ป่วยต้องการ” นพ.วีระพันธ์กล่าว และว่า

Palliative Care จึงเป็นทางเลือกที่จะช่วยให้ผู้ป่วยไม่ทุกข์ทรมาน เมื่อโลกเข้าสู่ระยะสุดท้าย โดยจุดมุ่งหมายของ Palliative Care คือการดูแลผู้ป่วยและครอบครัว ในกลุ่มผู้ป่วยที่โรครักษาไม่ได้หรือรักษาลำบาก หลักการของ Palliative Care คือการยอมรับในเวลาที่เหลืออยู่ โดยไม่ไปยืดหรือเร่งเวลาที่เหลือ แต่มุ่งดูแลผู้ป่วยให้มีสมรรถนะและคุณภาพชีวิตดีที่สุดในเวลาที่เหลืออยู่ โดยเฉพาะการจัดการอาการที่มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะอาการปวดและอาการไม่สุขสบายอื่นๆ เมื่ออยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต

ด้าน รศ.พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล นายกสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย กล่าวเสริมว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสานมักจะเลือกบ้านเป็นสถานที่ดูแลสุดท้ายของชีวิต การดูแลในระบบเครือข่ายจึงมีความสำคัญที่จะทำให้การดูแลไร้รอยต่อ ผู้ป่วยได้รับการจัดการอาการที่มีประสิทธิภาพ ครอบครัวมีความพึงพอใจ การส่งเสริมความร่วมมือและสร้างความเข้มแข็งในระดับเครือข่ายจึงมีความสำคัญต่อการส่งเสริมคุณภาพการดูแลของผู้ป่วยระยะสุดท้าย

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ยังจัดให้มีการประกวด “พลังเครือข่ายเข้มแข็ง” โดยส่งผลงานนำเสนอประเภท โปสเตอร์ชิงรางวัล และมีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมอบรมกว่า 500 คน



กำลังโหลดความคิดเห็น