ฉะเชิงเทรา - พิษการเมืองภายในรุนแรง ปลดอธิการบดี มรภ.แปดริ้ว พ้นเก้าอี้ อ้างทุจริต หย่อนสมรรถภาพในการบริหารราชการ ขณะอดีตกรรมการสภามหาวิทยาลัย แฉ การบริหารงานภายใน มรภ.มีการเมืองเข้าแทรก ชี้รูปแบบคล้ายกันกับการเมืองสภาใหญ่ในอดีตที่เคยทำชาติบ้านเมืองแทบป่นปี้ล่มจมเสียหายมานานนับสิบปี
วันนี้ (28 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวภายใน มรภ.ราชนครินทร์ ว่า เมื่อวานนี้เวลา 10.00 น. สภามหาวิทยาลัยราชนครินทร์ ตั้งอยู่เลขที่ 422 ถ.มรุพงษ์ ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ได้มีการเรียกประชุมสภาอย่างเร่งด่วนในการพิจารณาถอดถอนผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทัย ศิริภักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ออกจากตำแหน่ง ที่ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ชั้น 4 อาคารอนุสรณ์ร้อยปีการฝึกหัดครูไทย ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ
โดยมี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ เป็นประธานในการประชุม โดยในที่ประชุมได้มีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ทั้ง 21 เสียงต่อ 0 ในการถอดถอนผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทัย ศิริภักดิ์ ให้พ้นออกจากตำแหน่ง โดยอ้างว่าตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา ระหว่างที่อดีตอธิการบดีรายนี้เข้ามาดำรงตำแหน่ง ได้ใช้อำนาจหน้าที่กระทำการทุจริตเพื่อประโยชน์แก่ตนเอง จนขาดประสิทธิภาพในการบริหารราชการ และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตลอดจนการจัดซื้อจัดจ้างที่ผิดระเบียบทางราชการ
หลังการประชุม ที่ประชุมได้มีการแต่งตั้ง รองศาสตราจารย์ ดร.วิภาภรณ์ บุญยงค์ คณบดีคณะครุศาสตร์ ให้เข้ามารักษาการแทนอธิการบดี มรภ.ราชนครินทร์ และจะทำหนังสือแจ้งมติในการประชุมสภาไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยต่อผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทัย ศิริภักดิ์ ต่อไป
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยเพื่อมีมติสั่งปลดอธิการบดีในครั้งนี้ ทางเลขานุการสภาไม่ได้กำหนดให้ใช้สถานที่การประชุมสภาภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ซึ่งตั้งอยู่ในตัว จ.ฉะเชิงเทรา โดยได้ไปกำหนดใช้ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ของ มรภ.ราชภัฏพระนคร เป็นที่ประชุมแทน
นอกจากนี้ ยังได้รับการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอแต่งตั้ง หรือที่มาของกรรมการสภามหาวิทยาลัย จากอดีตคณบดีคณะใหญ่คณะหนึ่ง ที่มีหลักสูตรการสอนหลากหลายสาขาวิชา และยังเคยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยมาก่อนด้วยว่า ที่ผ่านมา ผู้ที่จะถูกเสนอชื่อให้เข้ามาเพื่อรับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสภาของมหาวิทยาลัยนั้น จะเป็นลักษณะการดึงเอาเฉพาะสมัครพรรคพวกในกลุ่มของตนเองเข้ามา
โดยที่กรรมการเหล่านี้จะพยายามจับกลุ่มรวมกันจนได้เสียงข้างมาก และมีอำนาจในสภา จนทำให้มติการประชุมในการพิจารณาวาระต่างๆ นั้นมักจะมีผลออกมาตามแนวทางที่กลุ่มของกรรมการสภาเหล่านี้ต้องการเสมอ จนทำให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยที่ไม่ได้เล่นพรรคเล่นพวก ไม่สามารถที่จะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
เนื่องจากไม่ว่าจะมีการลงมติในเรื่องใดก็ตามนั้นมักจะไม่ผ่านที่ประชุมสภา จนสุดท้ายนั้นกรรมการสภาชุดเก่าๆ ที่ไม่ได้มีกลุ่มสังกัด หรือมีพรรคพวกจึงต้องขอลาออกไปในที่สุด ไม่เว้นแม้แต่อดีตคณาจารย์อาวุโส และคณะบดีอีกหลายคณะที่ไม่สามารถนำเสนอเรื่องที่อยากนำเสนอผ่านสภาได้เลย ปัจจุบัน สภามหาวิทยาลัยจึงถูกผูกขาดแบบเบ็ดเสร็จโดยกลุ่มคนที่มีลักษณะคล้ายกับพรรคการเมืองพรรคเดียวในอดีต