ศูนย์ข่าวศรีราชา - กรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ลงพิสูจน์ 2 โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช บ่อวิน ชลบุรี ที่ได้รับรางวัล ไทยแลนด์ เอ็นเนียจี่ อะวอร์ด 2016 ในด้านการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานทดแทน จนสามารถลดต้นทุน และเพิ่มผลกำไรให้แก่หน่วยงานอย่างชัดเจน และเป็นรูปธรรม
วันนี้ (25 ส.ค.) นายสมชาย สถากุลเจริญ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพลังงานทดแทน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน และเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราช ตำบลบ่อวิน อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อดูการดำเนินงานของบริษัทบางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด ที่ได้รับรางวัลดีเด่นด้านอนุรักษ์พลังงาน ในเวที Thailand Energy Awards 2016 ประเภทขนส่ง และบริษัทอินทรีอีโคไซเคิล จำกัด ที่ได้รับรางวัลดีเด่นด้านพลังงานทดแทน ประเภทโครงการพลังงานหมุนเวียนที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า (Off-Grid) ในรายการเดียวกัน
โดยที่บริษัทบางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด นายยอดชัย ไชยทัพ ผอ.ฝ่ายปฏิบัติการสู่ความเป็นเลิศ ได้ออกมาต้อนรับ และพาเยี่ยมชมโรงงาน ซึ่งโรงงานนี้เป็นการดำเนินธุรกิจให้บริการขนส่งก๊าซอุตสาหกรรม ประเภท ออกซิเจน ไนโตรเจน อาร์กอน คาร์บอนไดออกไซค์ และไฮโดรเจน ซึ่งที่ได้รับรางวัลเนื่องจากทางบริษัทได้คิดค้นนวัตกรรมหรือวิธีการใหม่ๆ เพื่อใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยปรับปรุงระบบขนส่งสินค้าผ่านโครงการ Step Change วางแผนบริหารการจัดส่งสินค้าในการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการจัดเที่ยวรถ เส้นทางเดินรถ และปริมาณการขนส่งก๊าซ การนำระบบ บิ๊ก โมบี้ แอปพลิเคชัน ที่ลูกค้าสามารถลงชื่อยืนยันการส่งสินค้าได้โดยตรง และช่วยให้พนักงานขับรถทราบเส้นทางการเดินทางล่วงหน้า ทำให้บรรทุกสินค้าเหมาะกับขนาดของรถ ลดจำนวนเที่ยว และระยะทางในการขนส่ง ลดอัตราการใช้น้ำมันได้ถึงกว่า 3 หมื่นลิตร หรือคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 7 แสนบาทในเวลา 3 ปี
ทางด้านบริษัทอินทรีอีโคไซเคิล จำกัด ได้รับรางวัลดีเด่นด้านพลังงานทดแทน ประเภทโครงการพลังงานหมุนเวียนที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า เนื่องจากเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการจัดการกากของเสียแบบครบวงจร และการบริการภาคอุตสาหกรรม โดยรับกากของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมมาแปรสภาพ และผลิตเป็นเชื้อเพลิงทดแทนจากขยะที่เรียกกันทั่วไปว่า RDF ซึ่งมีค่าความร้อนสูงถึง 4,600 กิโลแคลอรีต่อกิโลกรัม ให้แก่บริษัทในเครือ ซึ่งสามารถเป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหินลิกไนต์ ที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในเตาเผาปูนซีเมนต์ได้ประมาณปีละ 15,000 ตัน ช่วยลดการใช้ถ่านหินลิกไนต์ได้มากกว่า 17,000 ตันต่อปี เทียบเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 25,000 ตันต่อปี
ซึ่ง นายสมชาย สถากุลเจริญ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพลังงานทดแทน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน และเจ้าหน้าที่ได้กล่าวชมเชย 2 หน่วยงานที่ได้รับรางวัลนี้ว่าเหมาะสมกับที่ได้รางวัล และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือทำธุรกิจในประเภทใกล้เคียงกันมาศึกษาดูงานกับทั้ง 2 หน่วยงานนี้ ซึ่งถ้าทำได้จะสามารถลดต้นทุนสร้างกำไร และลดการใช้พลังงานได้มากเลยทีเดียว