xs
xsm
sm
md
lg

ทุ่ม 50 ล้านบูรณะซ่อมแซมวิหาร “พระมงคลบพิตร” หลังเริ่มทรุดโทรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พระนครศรีอยุธยา - “มูลนิธิพระมงคลบพิตร” เตรียมนำงบประมาณเกือบ 50 ล้านบาท บูรณะซ่อมแซมวิหาร “พระมงคลบพิตร” หลังเริ่มมีสภาพทรุดโทรม โดยมีเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรมาช่วยดูแลในการปรับปรุงซ่อมแซม

วันนี้ (8 ส.ค.) ที่วิหารพระมงคลบพิตร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายประยูร รัตนเสนีย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานประกอบพิธีบวงสรวงสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นปฐมฤกษ์ก่อนเริ่มดำเนินการบูรณะซ่อมแซมวิหารพระมงคลบพิตร หลังจากเริ่มมีสภาพชำรุดทรุดโทรมลง โดยมี นายบุญสืบ หาสาสน์ศรี ประธานกรรมการมูลนิธิพระมงคลบพิตร ให้การต้อนรับ และมีข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนเข้าร่วมพิธีจำนวนมาก

นายประยูร รัตนเสนีย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า วิหารพระมงคลบพิตร เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ที่มีความสวยงามโดดเด่น สะท้อนให้คนรุ่นหลังได้เห็นถึงภูมิปัญญาคนโบราณที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น และเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งสร้างขึ้นมาเมื่อประมาณปี พ.ศ.2000 ต่อมา ได้มีการปฏิสังขรณ์ในปี พ.ศ.2500 ระยะเวลาผ่านมายาวนาน ทำให้วิหารพระมงคลบพิตร มีสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก ทางมูลนิธิพระมงคลบพิตร จึงเห็นสมควรดำเนินการซ่อมแซมบูรณะวิหารครั้งใหญ่ ตั้งแต่หลังคา ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ฝ้า ผนัง และบริเวณโดยรอบอาคารวิหารฯ

การดำเนินการครั้งนี้จะมีเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรมาช่วยดูแลในการปรับปรุงซ่อมแซม โดยใช้งบประมาณของมูลนิธิพระมงคลบพิตร มาใช้ในการซ่อมแซมครั้งนี้กว่า 50 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อให้วิหารพระมงคลบพิตร เกิดความคงทนแข็งแรง และมีความสวยงามอยู่คู่บ้านคู่เมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยาตลอดไป นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกด้วย

อนึ่ง สำหรับ “วิหารพระมงคลบพิตร” สันนิษฐานกันว่า สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ราวแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โดยตามพงศาวดารวิหารพระมงคลบพิตรนั้น เดิมประดิษฐานอยู่ด้านทิศตะวันออกของ พระราชวังหลวง บางคนสันนิษฐานว่า เคยประดิษฐานอยู่กลางแจ้งที่วัดชีเชียงมาก่อน ในปี พ.ศ.2146 สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม โปรดฯ ให้ชะลอมาไว้ทางด้านทิศตะวันตก แล้วให้สร้างมณฑปขึ้นครอบไว้ โดยมีหลักฐานจากภาพวาดของชาวตะวันตกที่เข้ามาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ว่า เป็นรูปร่างคล้ายๆ มณฑป

ต่อมา ในปี พ.ศ.2246 แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเสือ ยอดมณฑปต้องอสนีบาต (ฟ้าผ่า) ไฟไหม้เครื่องบนมณฑปหักพังลงมาต้องพระเศียรหัก สมเด็จพระเจ้าเสือ จึงโปรดฯ ให้แปลงมณฑปเป็นวิหาร แต่ยังคงส่วนยอดของมณฑปไว้ แล้วซ่อมพระเศียรพระพุทธรูปใหม่ กระทั่งในรัชกาล สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่หมด เปลี่ยนหลังคาคล้ายในปัจจุบัน เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งสุดท้ายวิหาร และพระพุทธรูปถูกไฟไหม้ชำรุดทรุดโทรม เครื่องบนวิหารหักลงมาต้องพระเมาฬี และพระกรข้างขวาหัก

ในปี พ.ศ.2474 สมัยพระยาโบราณราชธานินทร์ ตำแหน่งสุมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา คุณหญิงอมเรศร์สมบัติกับพวก ได้ขอยื่นเรื่องซ่อมแซมวิหาร แต่รัฐบาลไม่อนุญาตเนื่องจากต้องการที่จะรักษาตามแบบอย่างทางโบราณคดี โดยจะออกแบบให้ปูชนียสถานกลางแจ้งเหมือนไดบุซึ ของญี่ปุ่น แต่ด้วยเวลานั้นรัฐบาลยังไม่มีงบประมาณพร้อมในการดำเนินการ

ต่อมา ในปี พ.ศ.2499 รัฐบาลสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงได้เริ่มการบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหาร และองค์พระพุทธเสียใหม่ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ในคราวบูรณะพระมงคลบพิตรในปี พ.ศ.2500 กรมศิลปากร ได้พบพระพุทธรุปบรรจุไว้ในพระอุระด้านขวาเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม

“วิหารพระมงคลบพิตร” ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นที่ประดิษฐานพระมงคลบพิตร พระพุทธรูปบุสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง 9.55 เมตร และสูง 12.45 เมตร นับเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่องค์หนึ่งในประเทศไทย

สำหรับบริเวณข้างวิหารพระมงคลบพิตร ทางด้านทิศตะวันออกแต่เดิมเป็นสนามหลวง ใช้เป็นที่สำหรับสร้างพระเมรุพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ และเจ้านายเช่นเดียวกับท้องสนามหลวงของกรุงเทพฯ

“วิหารพระมงคลบพิตร” เปิดให้เข้าชมในวันธรรมดาตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์เปิดเวลา 08.00-17.00 น. นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมวัดพระศรีสรรญเพชญ์ หรือจะเลือกชมวัดทั้งสองด้วยการขี่ช้างชมวัด บริการดีๆ จากวังช้างอยุธยาแลเพนียด ก็ได้เช่นกัน





กำลังโหลดความคิดเห็น