xs
xsm
sm
md
lg

ส่องชุมชนอีสานย้ายถิ่นยึดพระราชเสาวนีย์ “แม่ของแผ่นดิน” ทำ “ไหมมัดหมี่ลายลิ้นจี่สน” งามหยด(ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงใหม่ - งามหยดย้อยจริงๆ!!! ตามรอยอีสานย้ายถิ่น-น้อมนำพระราชเสาวนีย์ “แม่ของแผ่นดิน” นำวิถีชาวไทยอีสานปลูกหม่อนเลี้ยงไหม “เมืองฝาง เชียงใหม่” ผลิตผ้าทอใช้เอง-ขายในชุมชน ก่อนต่อยอดผสานอัตลักษณ์พื้นถิ่นที่เป็นแหล่งผลิตลิ้นจี่พันธุ์ดัง ทำ “ไหมมัดหมี่ลายลิ้นจี่สน” ได้อย่างงดงาม



วันนี้ (4 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ จังหวัดเชียงใหม่ กรมหม่อนไหม ได้เข้าตรวจเยี่ยมโครงการหมู่บ้านอนุรักษ์ไหมไทยพื้นบ้านเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 2 ใน 84 แห่งทั่วประเทศ คือ บ้านโป่งถืบใน ต.เวียง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และบ้านห้วยเดื่อ ต.ผาบ่อง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน นั้น

พบว่า “บ้านโป่งถืบใน” ซึ่งมีชาวอีสานย้ายถิ่นมาปักหลักอาศัยอยู่กันมากถึง 119 ครัวเรือน และบ้านโป่งถืบนอกอีกกว่าร้อยครัวเรือน นอกจากจะยึดอาชีพทำสวนลิ้นจี่ที่เปรียบเหมือนเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นเมืองฝาง เชียงใหม่ แล้ว ยังนำวิถีชาวอีสานที่นิยมปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมาทำเป็นอาชีพเสริมกันแทบทุกครัวเรือนด้วย

และ “บ้านโป่งถืบใน” ได้รับการคัดเลือกเป็นหมู่บ้านนำร่องกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหม มีนางสมจิต สังสัมฤทธิ์ เป็นประธานกลุ่ม ขณะนี้มีสมาชิกอยู่ 16 ราย เกษตรกรส่วนใหญ่อพยพมาจากจังหวัดนครราชสีมา และได้นำอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การทอผ้าติดตัวมาด้วย

ทั้งนี้ กลุ่มปลูกหม่อน เลี้ยงไหม บ้านโป่งถืบในได้ปลูกหม่อนอยู่ 15 ไร่ ซึ่งเลี้ยงไหม 5 รุ่นต่อปี ปัจจุบันเลี้ยงไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้าน และพันธุ์ไทยลูกผสมด้วย แต่ได้ทำการเลี้ยงแยกกัน และเมื่อได้ผลผลิตกลุ่มฯ ก็จะดำเนินการสาวไหมเพื่อขายเส้นไหม โดยเก็บเส้นไหมบางส่วนไว้ฟอกย้อมเพื่อทอผ้าผืนไว้ใช้เอง และขายภายในชุมชน

ซึ่งปัจจุบันกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านโป่งถืบในได้ผสานวิถีของชาวอีสานกับอัตลักษณ์ของพื้นถิ่นเมืองฝาง ที่เป็นแหล่งผลิตลิ้นจี่ที่ขึ้นชื่อของเชียงใหม่ และของไทย ทอ “ผ้าไหมมัดหมี่ลายลิ้นจี่สน” ออกมาจำหน่ายด้วย

โดยทางสมาชิกกลุ่มได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านในโครงการหมู่บ้านอนุรักษ์ไหมไทยพื้นบ้านเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

นายเวช โพธิเวียง อายุ 61 ปี ชาวบ้านจังหวัดนครราชสีมา ที่อพยพโยกย้ายมาอยู่ที่ อ.ฝาง ตั้งแต่ยุคแรกๆ และทำอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแปรรูปเป็นผ้าทอ เปิดเผยว่า หนีแล้งจากอีสานมาอยู่ที่เมืองฝางตั้งแต่ปี 2521 แล้ว กระทั่งปี 2533 คนเฒ่าคนแก่ก็เริ่มปลุกหม่อนเลี้ยงไหมแบบไหมพันธุ์พื้นบ้าน พันธุ์ไทยอีสาน ต้นหม่อนก็เป็นหม่อนไทยบุรีรัมย์ 60 จนมาปี 34-35 ก็เริ่มเข้าโครงการฯ มีเกษตรอำเภอ-พัฒนาชุมชน เข้ามาสนับสนุน มีการนำพันธุ์หม่อนจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้มาทำแปลงสาธิต จากนั้นคนรุ่นต่อๆ มาก็เริ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมกันมากขึ้น

ต่อมาศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ที่เป็นของพระองค์ท่าน ก็เข้ามาสนับสนุน สมาชิกทุกคนต่างน้อมนำแนวพระราชเสาวนีย์มาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ประกอบอาชีพ และต่างภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

“เราสำนึกมาตลอด ไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไรก็จะมีพระบรมฉายาลักษณ์ไว้ เมื่อมีกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่าน ทุกคนก็มีความกระตือรือร้นที่จะไปร่วมพิธีด้วยความรู้สึกที่ซาบซึ้งอย่างมาก เพราะนับถือพระองค์ท่านมาตลอด”







กำลังโหลดความคิดเห็น