ฉะเชิงเทรา - ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค ลงพื้นที่ดูคุณภาพน้ำประปาในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา หลังพบค่าแมงกานีสสูงเกินกว่ามาตรฐานหลายเท่าตัว จนมีการร้องเกี่ยวถึงปัญหาของคุณภาพน้ำ พบมีสีขุ่นแดง สร้างความหวั่นวิตกแก่ประชาชนผู้ใช้น้ำในพื้นที่ พร้อมเร่งหาสาเหตุที่เกิดขึ้นเพื่อวางแนวทางแก้ไขต่อไป
วันนี้ (30 ก.ค.) ที่ห้องประชุมสถานีผลิตน้ำประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) สาขาฉะเชิงเทรา (สวนสน) รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค ได้นำคณะลงพื้นที่ตรวจสอบ และหาทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพน้ำประปา ของการประปาส่วนภูมิภาคฉะเชิงเทรา หลังจากมีกระแสข่าวการร้องเรียนผ่านทางสื่อบางแขนง และมีการส่งต่อกันผ่านทางโลกโซเชียลเกี่ยวกับการร้องเรียนปัญหาคุณภาพน้ำประปาที่มีสีแดง จนบางครั้งดำข้น และมีค่าแมงกานีสสูงเกินกว่ามาตรฐาน อีกทั้งยังมีตะกอนสีดำปนเปื้อน
โดยที่ผ่านมา ได้มีการตรวจ และพบค่าแมงกานีสในคลองท่าไข่ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบที่นำมาใช้ในการผลิตทำน้ำประปามีค่าสูงเกินกว่ามาตรฐานถึง 3.1 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งเกินกว่าค่ามาตรฐานของน้ำดิบที่จะนำมาใช้ในการผลิตประปาที่ต้องมีค่าแมงกานีสไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อลิตร และหลังจากผ่านกระบวนการผลิตทำน้ำประปาแล้วนั้น พบว่า มีค่าแมงกานีสสูงถึง 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งยังเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ คือ ไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อลิตร
หลังการลงพื้นที่ รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้ว่าฯ กปภ. กล่าวว่า จากการสำรวจในพื้นที่พบว่า น้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาคสาขาฉะเชิงเทรา สาขาบางปะกง และสาขาบางคล้า มีค่าแมงกานีสสูงเกินกว่ามาตรฐานจริง โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้นคุณภาพน้ำดิบเริ่มเสื่อมโทรมลงมาก จึงต้องหาสาเหตุให้พบก่อนว่าเกิดขึ้นจากอะไร แต่จากการเดินทางมาในวันนี้กลับพบว่า สถานการณ์ได้กลับไปเป็นปกติแล้ว
โดยพบค่าแมงกานีสในน้ำประปาแค่เพียง 0.17 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งค่ามาตรฐานนั้นไม่ควรเกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยเหตุการณ์ดังกล่าวนี้มักจะเกิดขึ้นในช่วงของต้นฤดูฝน เนื่องจากน้ำธรรมชาติที่ไหลเข้ามาจากแปลงไร่นา จากบ่อดินที่ขายหน้าดิน หรือการทิ้งน้ำเสียลงมา จึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มีค่าแมงกานีสในน้ำดิบสูงขึ้นได้
“ขณะนี้ได้สั่งการให้การประปาส่วนภูมิภาคฉะเชิงเทรา กระทำการเชิงรุกในการหาแหล่งต้นทางว่ามีน้ำเหล่านี้เท่าไหร่ น้ำเหล่านี้จะมาหาเราเมื่อไหร่ จะได้มีมาตรการในการแก้ไขในทันที เช่น การเติมโอโซน การเติมปูนขาว และการปรับกระบวนการผลิต เพื่อรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นี่คือแผนระยะสั้น ขณะนี้ขอยืนยันว่าคุณภาพน้ำประปาฉะเชิงเทรามีมาตรฐานก่อนส่งออกไปจากต้นทางแน่นอน” รศ.เสรี กล่าว
รศ.เสรี กล่าวต่อไปว่า สำหรับในระยะยาวนั้น เมื่อพบว่าคุณภาพน้ำดิบมีคุณภาพที่จะเสื่อมโทรมลง การประปาส่วนภูมิภาคกำลังจะแสวงหาแหล่งน้ำดิบจากแหล่งอื่นๆ โดยขณะนี้ได้มีการวางแผนว่าจะไปรับน้ำมาจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวง และอ่างเก็บน้ำคลองสียัด ซึ่งอยู่ทางด้านฝั่งซ้ายของแม่น้ำบางปะกงข้ามมายังฝั่งขวา ซึ่งก็ต้องใช้เงินลงทุน ซึ่งก็จะเป็นโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยความยั่งยืนในอนาคตก็จะขึ้นอยู่กับ 2 แหล่งน้ำนี้ที่จะนำมาใช้ในการผลิตน้ำประปา
โดยปัญหาเมื่อวันที่ 3 ก.ค.59 ที่ผ่านมานั้น เราพบว่าน้ำดิบมีค่าแมงกานีสสูงถึง 6.5 มิลลิกรัมต่อลิตร ก็ได้สั่งการตรงจุดนี้ให้หาสาเหตุให้เจอก่อน เพราะลำพังการประปาส่วนภูมิภาคจะดำเนินการให้คุณภาพน้ำดิบจะต้องมีคุณภาพมาตรฐานฝ่ายเดียวนั้นจะเป็นไปไม่ได้เลย โดยจะต้องมีภาคส่วนประชาชน กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ประกอบการที่อยู่เหนือจุดสูบน้ำขึ้นไป ล้วนมีความสำคัญที่จะต้องเข้ามาร่วมมือกัน รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดก็จะต้องมาพูดคุยกันที่จะต้องเร่งดำเนินการหาสาเหตุให้พบก่อนว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร จะได้เข้าไประงับสาเหตุเอาไว้ก่อน หากมีแนวโน้มว่าในระยะยาวนั้นจะไม่สามารถระงับได้ก็จะต้องหาแหล่งน้ำใหม่อย่างแน่นอน