อำเภอแม่เจ่ม รวมพลังประชารัฐ จับมือภาคการศึกษา ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ขับเคลื่อนแม่แจ่มโมเดลโมเดลพลัส แก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า เดินหน้าพลิกฟื้นผืนป่าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมสร้างระบบน้ำ ส่งเสริมพืชทางเลือกที่ตอบโจทย์เรื่องรายได้แก่เกษตรกรควบคู่ไปกับการดูแลป่า พร้อมสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ภูมิสารสนเทศฯ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนแม่แจ่มโมเดลพลัส
อำเภอแม่แจ่ม องค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาลอำภอแม่แจ่ม พร้อมด้วยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โปรดิ๊วส จำกัด และภาคประชาสังคม ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลง(MOU)ว่าด้วยความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาป่าไม้กับชุมชนและหมอกควันไฟป่าอย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วม อำเภอแม่แจ่ม (แม่แจ่มโมเดลพลัส)
ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อระดมสรรพกำลังในการแก้ไขปัญหาป่าไม้กับชุมชนและหมอกควันไฟป่าอำเภอแม่แจ่ม ในการนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ร่วมสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ภูมิสารสนเทศเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการมีส่วนร่วม อำเภอแม่แจ่ม เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการจัดการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า
นายทศพล เผื่อนอุดม นายอำเภอแม่แจ่ม กล่าวว่า บันทึกข้อตกลง(MOU)ว่าด้วยความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาป่าไม้กับชุมชนและหมอกควันไฟป่าอย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วม อำเภอแม่แจ่ม (แม่แจ่มโมเดลพลัส) เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการร่วมกันแก้ไขปัญหาป่าไม้กับชุมชนและหมอกควันและไฟป่าอย่างยั่งยืน หรือ เรียกว่า “แม่แจ่มโมเดลพลัส” ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ในการจัดการป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพบนพื้นที่สูงชัน(เขาหัวโล้น)ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 7 กรกฎาคม 2558 เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและหยุดยั้งปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำในพื้นที่ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้โดยจะนำร่องดำเนินการก่อนได้อย่างทันทีใน 15 หมู่บ้าน โดยมีการจัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือดังกล่าว ไปเมื่อ 26 ก.ค. 2559 ณ หอประชุมใหญ่โรงเรียนแม่แจ่ม อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
ภายใต้บันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีสาระสำคัญ ประกอบด้วย 1.สนับสนุนการสร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วน 2.ส่งเสริมการจัดระเบียบคนและพื้นที่ 3.ส่งเสริมและสนับสนุนการป้องกันและรักษาป่า 4.ส่งเสริมสนับสนุนการฟื้นฟูระบบนิเวศ 5.ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ 6.ส่งเสริมสนับสนุนการสร้างจิตสำนึกและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 7.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน
ในการนี้คณะกรรมการบูรณาการแก้ไขปัญหาป่าไม้กับชุมชนและหมอกควันไฟป่าอำเภอแม่แจ่ม ได้จัดตั้งภูมิสารสนเทศเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยการมีส่วนร่วม อำเภอแม่แจ่ม ขึ้นมาโดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ซึ่งศูนย์ภูมิสารสนเทศฯนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์แม่แจ่มโมเดลพลัส โดยจะมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและการติดตามประเมินผลในพื้นที่อำเภอแม่แจ่มให้มีความเป็นเอกภาพ ช่วยให้การจัดทำข้อมูลแผนที่จำแนกการใช้ประโยชน์ป่าไม้ที่ดินรายแปลงสามารถนำไปใช้กำหนดพื้นที่ดินประเภทต่าง ๆ เช่น ป่าอนุรักษ์ดินและน้ำ, ป่าชุมชน, ที่ทำกินและป่าเศรษฐกิจชุมชน ตลอดจนที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
นายจอมกิตติ ศิริกุล ผู้บริหารโครงการพิเศษ ประจำสำนักประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์กล่าวว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์มีความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า โดยได้เข้าร่วมเป็นภาคีของแม่แจ่มโมเดลมาตั้งแต่ต้น ที่ผ่านมาได้สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมร่วมกับภาครัฐ และภาคประชาสังคมในอำเภอแม่แจ่มแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า
อาทิ การนำร่องโครงการหมู่บ้านปลอดเผา 100% ที่ตำบลบ้านทับ จำนวน 1,500 ไร่ซึ่งประสบความสำเร็จที่น่าพอใจ และในก้าวต่อไปของการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและพลิกฟื้นฝืนป่าอำเภอแม่แจ่มสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามยุทธศาสตร์แม่แจ่มโมเดลพลัส ได้วางแผนที่จะสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ได้แก่ ระบบน้ำ ควบคู่ไปกับการสร้างอาชีพในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชนหรือ Social Enterprise โดยอยู่ระหว่างการศึกษาหาพืชทางเลือกเพื่อทดแทนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งนำร่องลดพื้นที่การปลูกข้าวโพดและสร้างความยั่งยืนด้านอาชีพแก่เกษตรกรเป็นโครงการแรกที่บ้านกองกาย ตำบลบ้านทับ อำเภอแม่แจ่ม
นอกจากนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ร่วมสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ภูมิสารสนเทศเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการมีส่วนร่วม อำเภอแม่แจ่ม ทั้งนี้เพราะเห็นถึงความสำคัญของศูนย์ฯดังกล่าวซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการจัดการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าที่อำเภอแม่แจ่ม
ทั้งนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์เชื่อมั่นว่ายุทธศาสตร์แม่แจ่มโมเดลพลัสซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน จะเป็นมิติใหม่ในการพัฒนา ซึ่งจะทำให้ได้พื้นที่ป่ากลับคืนมา เพิ่มพื้นที่ป่า แก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน พัฒนาแหล่งน้ำ และสร้างอาชีพอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน