xs
xsm
sm
md
lg

เพชรบุรีร่วมจัดกิจกรรม 84 ฝายถวายราชินี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เพชรบุรี - สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเพชรบุรี กลุ่มบริษัท อีซูซุอึ้งง่วนไต๋ฯ พร้อมหลายหน่วยงาน ร่วมกันแถลงข่าวจัดกิจกรรม 84 ฝายถวายราชินี ณ เขาแด่น อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี

วันนี้ (25 ก.ค.) ที่องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยลึก อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี น.ส.วนิดา แย้มสรวล ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอัครวิชย์ เทพาสิต ผอ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานเพชรบุรี นายธีรยุทธ พิทักษ์สิทธิ์ กรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัท อีซูซุอึ้งง่วนไต๋ จำกัด ประธานสภาอุตสาหกรรม จังหวัดเพชรบุรี นายภูริวัจน์ ลิ้มถาวรรัตน์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ นายบัณฑิต ทองดี นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ได้ร่วมกันแถลงข่าวกิจกรรม 84 ฝายถวายราชินี ณ เขาแด่น อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี

สำหรับกิจกรรมดังกล่าวเป็นการร่วมมือกันระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเพชรบุรี ร่วมกับบริษัทอึ้งง่วนไต๋อีซูซุเซลส์ จำกัด สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย กลุ่มดูนกเพชรบุรี เครือข่ายอนุรักษ์แม่น้ำเพชร และกลุ่มคนรักเขาแด่น ร่วมกันจัดโครงการ 84 ฝายถวายราชินีขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึงเดือนธันวาคม 2559

โดยมีวัตถุประสงค์ในการดูแลรักษาป่าไม้ และแหล่งน้ำแก่สัตว์ป่าด้วยกิจกรรมการสร้างฝายชะลอน้ำ อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมให้หน่วยงานองค์กรสถาบันการศึกษา นักท่องเที่ยว และบุคคลทั่วไปได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ทำความดีแก่แผ่นดิน และประการสำคัญเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษามหาราชินี ในวันที่ 12 สิงหาคม 2559 ที่จะมาถึงนี้ อีกทั้งยังสอดคล้องต่อนโยบายของรัฐบาลให้ทุกภาคส่วนร่วมในการสร้างอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และแก้ไขปัญหาน้ำอยู่สร้างความยั่งยืนให้แก่ธรรมชาติ

สำหรับป่าเขาแดน เป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรี ในอดีตมีความสวยงามยามเมื่อแร่ควอตต้องกับแสงจันทร์ที่สุขสว่างยามค่ำคืน จะปรากฏเป็นประกายระยิบระยับ จึงเป็นที่มาของชื่อ “เมืองพริบพรี” ในอดีต และมาเป็นเพชรบุรีในปัจจุบัน แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมา มีการนำพื้นที่ป่าไปทำเมืองแร่เหมืองหิน ทำให้ป่าไม้ถูกทำลายเกิดปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก สัตว์ป่าขาดแหล่งน้ำเพื่อการดำรงชีพในหน้าแล้งจนต้องลงมาหาแหล่งน้ำในหมู่บ้าน เป็นเหตุให้สัตว์ป่าน้อยใหญ่ โดยเฉพาะสัตว์ป่าคุ้มครองตายจำนวนมาก สมดุลธรรมชาติ และพื้นป่าเขาแดน ที่สวยงามจึงถูกทำลาย ซึ่งการสร้างฝายชะลอน้ำเป็นเพียงกิจกรรมที่มิใช่เพื่อดูแลป่าแต่อย่างเดียว แต่ยังเป็นการรักษาชีวิตสัตว์ป่านานาชนิด และยังเป็นการเฝ้าระวังการบุกทำลายป่าอีกทางหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ ได้มีการร่วมทำฝายชะลอน้ำบริเวณบริเวณร่องน้ำธรรมชาติเหนืออ่างเก็บน้ำผาน้ำหยด โครงการพระราชดำริ บ้านพุตูม ม.5 ตำบลห้วยลึก อำเภอบ้านลาด ซึ่งเป็นทางน้ำธรรมชาติที่ไหลมาจากเทือกเขาแด่น ที่อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนป่ายางหัก-เขาปุ้ม โดยมีชาวบ้านในพื้นที่มาร่วมทำฝ่ายกันอย่างคึกคัก ลักษณะเป็นฝายเรียงหิน โดยใช้ไม้ไผ่ทำเป็นคันรับแนวหิน กว้างประมาณ 80 เซนติเมตร ตรงกลางใช้กระสอบใส่ทรายมาใส่เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำได้มากขึ้น เมื่อยามเกิดฝนตกน้ำจะไหลลงไปสู่อ่างเก็บน้ำด้านล่าง และไหลเข้าระบบส่งน้ำไปสู่ชุมชนก่อนนำไปใช้อุปโภค และใช้เพื่อการเกษตรต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น