xs
xsm
sm
md
lg

ชะตาชีวิต “หนังไทย” ตายในไทย-รอดในพม่า ถึงเวลาเพิ่มรอบ-กำหนดกรอบหนังต่างแดน!!? [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ทำหนังไทยให้ดีก่อนเถอะ เดี๋ยวคนก็ดูเอง จะออกมาเรียกร้องกันทำไม!!?” ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่คิดคล้ายๆ แบบนี้ ทันทีที่มีข่าว “เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์” ออกมาเรียกร้อง “ขอที่ยืนให้ภาพยนตร์ไทย” แสดงว่าคุณยังเป็นคอหนังที่ไม่รู้จักวงการภาพยนตร์ไทยดีพอ
 
กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงตัวแทนคนทำ “หนังผี-หนังตลก” สัญชาติไทยอย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ แต่คือภาพสะท้อนของ “หนังดีที่ไม่มีคนดู” ในวันที่วงการนี้ได้ตกลงมาถึงจุดต่ำสุดที่เรียกว่า “เกินวิกฤต” ไปแล้ว เพราะปีนี้เป็นปีแรกที่รายได้หนังไทยร่วงดิ่งลงมาหนักขนาดนี้ คือเหลือส่วนแบ่งรายได้อยู่ที่ 13 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง!!
 


 

“หนังเกาหลี” ก็เคยห่วย แต่รัฐบาลช่วยจนได้ดี!!

“ที่น่าหนักใจมากก็คือ สัดส่วนรายได้ของหนังไทยในพื้นที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ซึ่งเดิมเคยได้ 22 เปอร์เซ็นต์ (ในปี พ.ศ.2557) และลดลงมาเรื่อยๆ จนเหลือ 18 เปอร์เซ็นต์ (ในปี 2558) จนปีล่าสุด (ปี 2559) เหลือ 13 เปอร์เซ็นต์แล้ว แสดงว่าคนดูหนังไทยน้อยลงจริงๆ และถ้าปีถัดไปมันต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์อีกล่ะจะวิกฤตขนาดไหน ทำให้หลายๆ คนคิดว่าถึงเวลาที่ต้องลุกขึ้นมาพูดได้แล้ว”
 
สุภาพ หริมเทพาธิป สื่อมวลชนด้านภาพยนตร์ไทย ช่วยชี้ช่องโหว่เกี่ยวกับสื่อจอใหญ่เอาไว้ ในงานแถลงข่าว “ยื่นข้อเรียกร้อง เร่งพาหนังไทยออกพ้นวิกฤตการณ์” ซึ่งจัดขึ้นโดย “เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์” ย้ำชัดว่าไม่ใช่เรื่องที่จะนิ่งนอนใจได้อีกต่อไป เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่รายได้หนังไทย ถอยลงมาจนเหลือสัดส่วนการตลาดที่ต่ำถึงขีดสุดขนาดนี้
 
“ก่อนหน้านี้รายได้ทั้งหมดในการดูหนังจะอยู่ที่หลัก 4,000 กว่าล้านมาโดยตลอด และช่วงหลังก็มีโรงหนังเพิ่มขึ้นด้วย แสดงว่าจำนวนคนดูต่อโรงจะยิ่งน้อยลง ซึ่งนั่นก็ถือเป็นงานยากแล้ว สำหรับการฉายต่อโรงของหนังเรื่องหนึ่ง แต่ที่แย่ยิ่งกว่านั้นก็คือ พอมาดูในรายละเอียดอีกที จะเห็นว่า “ราคาค่าตั๋ว” ก็เพิ่มขึ้นด้วย แต่รายได้กลับเท่าเดิม แสดงว่าจริงๆ แล้ว จำนวนคนดูของเราไม่ได้เท่าเดิม แต่น้อยลงไปอีก”
 
ถ้าเทียบกับประเทศมหาอำนาจด้านอุตสาหกรรมบันเทิงในอาเซียนอย่าง “เกาหลี” ทุกวันนี้แล้ว ถึงแม้ประเทศเขาจะมีประชากร 50 กว่าล้านคน ซึ่งน้อยกว่าบ้านเราที่มีถึง 60 กว่าล้านคน แต่โรงภาพยนตร์ที่นั่นกลับมีมากกว่าเราถึงเกือบ 2 เท่า คือมีจอยักษ์จำนวน 2,000 กว่าโรง มากกว่าไทยซึ่งมีเพียง 1,100 โรงเท่านั้น

นอกจากนี้ขนาดอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในหลายๆ มิติยังใหญ่กว่าบ้านเราถึง 10 เท่าทั้งที่มีประชากรน้อยกว่า เพียงเท่านี้ก็พอจะชี้ให้เห็นได้ส่วนหนึ่งแล้วว่า “วัฒนธรรมการดูหนัง” บ้านเราถึงจุดวิกฤตแล้วจริงๆ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์รายเดิมเสนอมุมมองเอาไว้แบบนั้น

“ยกตัวอย่างง่ายๆ จำนวนตั๋ว 10 ล้านใบทั่วประเทศจากเรื่อง “พี่มาก..พระโขนง” ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ในบ้านเรา แต่เทียบกับเกาหลี เขาได้สถิติแบบนี้เป็นเรื่องปกติเลย บางปีมีถึง 3-4 เรื่องที่ทะลุหลัก 10 ล้าน แต่บ้านเราทำหนังกันมานานถึง 80 ปี ทำไมถึงเพิ่งเกิดขึ้นได้ครั้งเดียว ก็น่าพิจารณาเหมือนกันว่าวัฒนธรรมการดูหนังของเราเป็นยังไง อาจจะเรียกว่า “เกินวิกฤต” ไปแล้วด้วยซ้ำ

[สุภาพ หริมเทพาธิป สื่อมวลชนด้านภาพยนตร์ไทย]

“ทำหนังไทยให้ดีก่อนเถอะ เดี๋ยวคนก็ไปดูเอง” คือประโยคคลาสสิกที่คอหนังบางส่วนตอกกลับมาในทุกๆ ครั้งที่มีการเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามเกี่ยวกับวงการภาพยนตร์ไทย ครั้งนี้ก็เช่นกัน ทันทีที่มีข่าวความเคลื่อนไหวของ “เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์” ออกมาเรียกร้องขอที่ยืนให้หนังไทยเพิ่มมากขึ้น ก็มีฟีดแบกทำนองเดียวกันนี้โผล่ขึ้นมาอย่างล้นหลามบนโลกออนไลน์ เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่า “ชีวิตคนทำหนัง” มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น สื่อมวลชนด้านภาพยนตร์อย่าง “สุภาพ” จึงช่วยเปรียบเทียบให้เห็นภาพตามนี้

“ตอนนี้ “หนังไทย” เหมือนนักมวยที่ฝึกเตะต้นกล้วยอยู่กับบ้าน มันจะไปเทียบกับนักมวยที่อยู่ค่ายดัง มีเทรนเนอร์ดีๆ ได้ยังไงครับ แล้วคนก็บอกว่า “หัดเตะอยู่บ้านให้ดีๆ เดี๋ยวก็ชนะเขาได้เอง” ถามว่าจริงๆ แล้ว มันจะเป็นไปได้แค่ไหน สำหรับนักมวยที่ฝึกอยู่ที่บ้าน

คนทำหนังไทยก็เหมือนนักมวยที่เตะต้นกล้วยคนนั้นแหละ ที่กินอาหารไม่ได้มาตรฐาน ยังกินข้าวจิ้มน้ำพริกอยู่เลย จะเอากล้ามเนื้อที่ไหนมาสร้างให้ร่างกาย ไม่มีเทรนเนอร์ดูแล ไม่มีกำลังทรัพย์ด้านอื่นที่ต้องมาสนับสนุน ยังต้องไปถีบสามล้อเลี้ยงชีพด้วย ในขณะที่อีกคนหนึ่งตื่นเช้ามา กินอาหารตามสูตร มีเทรนเนอร์คอยซ้อมให้ตามกำหนด เวลาขึ้นเวที คิดว่าใครมีโอกาสจะชนะมากกว่ากัน

วันนี้ที่ทางเครือข่ายออกมา เราไม่ได้ออกมาบังคับหรือเรียกร้องอะไรจากคนดูเลย เราแค่ขอออกมาเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ออกมาสร้างพื้นที่ ทำถนนให้หนังไทยอีกตั้งหลายๆ เรื่องที่คนยังไม่เคยรู้จัก ให้ได้มีทางเดินไปหาคนดู คนทำหนังไทยไม่ได้ต้องการอะไรมากมายเลยครับ ขอแค่ให้รัฐบาลช่วยสร้างระบบพื้นฐานง่ายๆ ให้หนังไทยยังมีทางไปได้

[งานแถลงข่าว “ยื่นข้อเรียกร้อง เร่งพาหนังไทยออกพ้นวิกฤตการณ์”]

ถามว่าเกาหลีพัฒนาตัวเองให้มาถึงจุดนี้ได้ยังไง ถ้ามองย้อนกลับไปสมัยก่อน หนังเกาหลีเองก็ห่วยจะตาย ลองดูหนังที่เขาส่งเข้าประกวดใน “เทศกาลภาพยนตร์เอเชีย-แปซิฟิก" เมื่อ 30 ปีที่แล้วดูก็ได้ ลองไปถามคนเกาหลีในเวลานั้น เขาก็บอกว่าเขาก็ไม่ดูหนังของตัวเองเหมือนกัน แต่ด้วยความที่เขาพัฒนาวงการหนังเกาหลีอย่างต่อเนื่อง ตาม road map ที่รัฐบาลเขาวางเอาไว้ ก็เลยทำให้เกิดอุตสาหกรรมและวัฒนธรรมการดูหนังได้อย่างทุกวันนี้

ที่ยกตัวอย่างเกาหลีให้เห็น ไม่ได้หมายความว่าเกาหลีทำได้ เราต้องยึดโมเดลแบบเขานะครับ เพราะแต่ละประเทศมันมีรายละเอียดไม่เหมือนกัน เราต้องมานั่งคุยกัน อย่างเรื่อง “กำหนดสัดส่วนภาพยนตร์” เราก็ไม่ได้เรียกร้องนอกเหนือไปจากข้อกฎหมายที่มีอยู่เดิมเลย ไม่ได้เรียกร้องให้เขียนกฎหมายขึ้นมาใหม่ แค่กระตุ้นให้คณะกรรมการที่ดูแลเรื่องการแข่งขันทางการค้า หยิบเอาข้อกฎหมายเหล่านั้นขึ้นมาใช้ตามหน้าที่เท่านั้นเองครับ”


 

โวหารหลอกเด็ก!! “ทำหนังให้ดี เดี๋ยวคนดูเอง”

[ภาพยนตร์เรื่อง “ปั๊มน้ำมัน” ที่ถูกเชิญให้ฉาย “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน”]
“หนังเรื่อง “ปั๊มน้ำมัน” ฟีดแบ็กออกมาดีมาก บอกว่าหนังดูไม่ยาก หนังดีมาก แถมยังถูกเชิญไปฉายที่ “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน” แต่พอมาฉายที่ไทย เปิดตัววันแรกได้เงิน 9,000 บาท พอคนดูก็บอกกันปากกันไป จนรายได้ขึ้นมาเป็น 10,000-20,000 บาท แต่พอครบ 7 วัน หมดเวลาฉาย ต้องออกจากโรง ทั้งๆ ที่ตอนนั้นหนังยังไม่คืนทุนด้วยซ้ำ

ไหนจะต้องจ่ายค่า VPF (ค่าธรรมเนียมการฉายระบบดิจิตอล ซึ่งราคาอยู่ที่โรงละประมาณ 24,000 บาท) อีก... ไหนบอกว่าทำหนังไทยให้ดี แล้วจะมีคนมาดูเองไง มันไม่จริงเลย...

ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “ปั๊มน้ำมัน (A Gas Station)” บอกเล่าประสบการณ์อกหักจากการทำหนังในฝันด้วยน้ำเสียงปลงตก โชคยังดีที่หลังจากฉายหนังในเครือใหญ่เสร็จสิ้น เธอได้ติดต่อโรงหนังทางเลือกอย่าง “House Rama RCA” เอาไว้ จึงทำให้ได้ต่อลมหายใจเพิ่มรายได้ให้ไม่เข้าเนื้อจนเกินไป

“ตอนนี้ก็ยังฉายอยู่ที่โรง House อยู่เลยค่ะ อยู่นานจะ 1 เดือนแล้ว เพราะคนบอกต่อกัน และทางโรงเขามีพื้นที่ให้มัน สุดท้ายคนก็ไปดู ซึ่งจากกรณีนี้ก็ช่วยพิสูจน์แล้วว่า ถ้าทางโรงให้เวลาเรา และหนังดี มันถูกจริตเขาจริง คนก็ไปดู เพราะฉะนั้น เราเลยต้องมีโควตาเพื่อสร้างพื้นที่หายใจและเติบโตให้แก่หนังต่อไป

เพราะฉะนั้น ข้อเรียกร้องจะมีเรื่อง “โควตาพื้นที่ภาพยนตร์ไทย” เพื่อให้เราได้อยู่รอด และเรื่องการจ่าย “ค่า VPF” ซึ่งเป็นภาระอันหนักหน่วงของผู้สร้างหนังไทยในปัจจุบัน เราอยากให้หน่วยงานรัฐบาลมาส่งเสริมและสนับสนุนภาพยนตร์ไทยอย่างจริงจัง คือต้องพัฒนาไปพร้อมกันทั้งผู้สร้างภาพยนตร์ ทั้งโรงภาพยนตร์ และฝั่งคนชมด้วย โดยที่มีหน่วยงานรัฐบาลเป็นกลไกหลักที่จะช่วยนำมาความเข้มแข็งให้ภาพยนตร์ไทยพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปได้

[ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “ปั๊มน้ำมัน"]

กลไกที่ว่านั้นก็คือทาง “เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์” ต้องการเรียกร้องให้ “สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ” ลุกขึ้นมาแก้ไขวิกฤติวงการภาพยนตร์ไทยอย่างเร่งด่วนที่สุด โดยเฉพาะส่วนความรับผิดชอบของ “คณะกรรมการการแข่งขันการค้า ผู้มีอำนาจตาม พ.ร.บ.การค้า พ.ศ. 2542” ที่ต้องการให้เข้ามากำกับดูแลให้สัดส่วนการเข้าฉายภาพยนตร์ไทยและต่างประเทศ เป็นไปอย่างเป็นธรรมและสร้างประโยชน์ให้แก่ทั้งผู้สร้างและผู้ชมภาพยนตร์มากที่สุด โดยมีข้อเรียกร้องหลักๆ ดังต่อไปนี้

1.เรียกร้องให้โรงภาพยนตร์ทุกเครือในประเทศไทย ต้องจัดสัดส่วนการฉายของภาพยนตร์แต่ละเรื่องไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนจอทั้งหมดของเครือนั้น เช่น โรงภาพยนตร์เครือ A มีจอฉายทั้งหมด 100 จอ จะต้องจัดฉายภาพยนตร์แต่ละเรื่องไม่เกิน 20 จอต่อเรื่อง ตลอดระยะเวลาการฉาย

2.เรียกร้องให้กำหนดจำนวนรอบและระยะเวลาการฉายในประเทศไทย โดยต้องวางโปรแกรมฉายให้แก่ภาพยนตร์ไทยทุกเรื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อยที่สุด 2 สัปดาห์เต็ม นับแต่วันที่เริ่มฉายภาพยนตร์ตามปกติ ไม่นับรวมระยะเวลาการทดลองฉาย หรือที่เรียกว่าระบบ Sneek Peek

โดยต้องให้รอบการฉายภาพยนตร์ไทยอย่างน้อยวันละ 5 รอบ ตลอดระยะเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อให้ภาพยนตร์ไทยได้มีโอกาสสร้างรายได้ตอบแทนทันเวลา และได้มีเวลาบ่มเพาะกลุ่มผู้ชมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

และ 3.เรียกร้องให้ยกเลิกค่าธรรมเนียมการฉายดิจิตอล (VPF) เนื่องจากปัจจุบันมีการยกเลิกการเก็บเงินส่วนนี้จากผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์จากต่างประเทศมานานแล้ว รวมทั้งยังเรียกร้องให้ยกเลิกค่าธรรมเนียมอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการฉายภาพยนตร์ทั้งหมดของภาพยนตร์ทุกเรื่องด้วย


 

เจ็บแต่จริง!! “ฉายพม่า” ได้ราคากว่า “ฉายบ้านเรา”

[ภาพยนตร์เรื่อง "มหาลัยวัวชน"]
บุญส่ง นาคภู่ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง "ธุดงควัตร" และ "มหาลัยวัวชน (Song from Phatthalung)" ผู้กำกับภาพยนตร์ทางเลือกที่อยู่รอดจากการทำหนังได้ด้วยการเลือกเข้าฉายเฉพาะโรง คืออีกมุมมองหนึ่งที่จะช่วยสะท้อนวิกฤตระบบการฉายในไทยได้เป็นอย่างดี

“อย่างหนังของผม ส่วนใหญ่จะเลือกฉายเฉพาะโรง อาจจะแค่โรงเดียว เพื่อให้มีทางรอดบ้าง เพราะถ้าฉายหลายโรง ต้องเสียค่า VPF อีกบาน ยังไงก็ไม่ไหวแน่นอน ผมก็เลยเลือกฉายที่โรงหนังลิโด้ จองฉาย 1 โรงต่อเรื่อง จ่ายไป 6,000 บาท แสดงว่าต้องมีคนดู 60 คน ถึงจะได้เท่าทุน

แต่ถ้าเป็นการขอฉายเครือใหญ่ เขาจะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ โดยแบ่งให้เขา 50-60 เปอร์เซ็นต์จากรายได้ทั้งหมดของหนังตามตกลงกัน และยังมีค่าVPF อีก ภาระตรงนั้นก็ตกมาอยู่ที่ผู้ผลิตที่ต้องจ่ายโรงละ 24,000 บาท แล้วคิดดูว่าจะเหลือกำไรจากการทำหนังเท่าไหร่ เพราะทุกวันนี้ พอหนังเรื่องไหนไม่ทำเงิน โรงก็บอกให้เปลี่ยนเรื่องฉาย... ในฐานะผู้สร้าง ในฐานะศิลปิน เราไม่ใช่ปลาที่ตายแล้ว ที่ออกมาดิ้นรนครั้งนี้

[บุญส่ง นาคภู่ ผู้กำกับเรื่อง "มหาลัยวัวชน"]

หรือแม้แต่เสียงจากผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง "ถึงคน…ไม่คิดถึง (From Bangkok To Mandalay)" อย่าง ชาติชาย เกษนัส เองก็น่าสนใจ เพราะเป็นมุมมองที่ช่วยสะท้อนให้เห็นแง่มุม “เจ็บแต่จริง” เอาไว้ให้เห็นว่าแม้แต่ “ประเทศพม่า” ยังรองรับการสร้างรายได้มากกว่าในบ้านเรา

“สิ่งหนึ่งที่ผมเจอในการไปพม่าคือ เขาจัดให้หนังพม่าอยู่ใน system A ส่วนหนังต่างประเทศจะไม่สามารถเข้าได้ หนังต่างประเทศต้องไปอยู่ system B ส่วนหนังฮอลลีวู้ดจะไม่ขึ้น subtitile ภาษาพม่าได้ เพราะฉะนั้น ก็เลยทำให้หนังผมที่ไปฉายที่นู่นรอดได้มากขึ้น เพราะหนังที่มาต่อโรงเข้าฉายอย่างเรื่อง “Doctor Strange (จอมเวทย์มหากาฬ)” ต้องรอคิว มาเข้าฉายยังไม่ได้

เทียบกับหนังไทย คนสร้างหนังต้องคุยกันตลอดว่าหนังฮอลลีวูดจะเข้าเมื่อไหร่ ต้องดูเลยว่าหนังตัวเองจะได้ฉายเดือนไหน เพราะหนังฮอลลีวูดปูพรมไว้เลยว่าจะฉายเดือน มี.ค.เป็นต้นไป คิดดูว่าทำไมคนทำหนังไทยต้องคอยหลบขนาดนี้ บางทีมีอยู่ 14 จอ แต่มีหนังไทยให้เลือกอยู่ 3 เรื่อง... ในประเทศเล็กๆ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐบาลจะไม่ช่วยเหลือในเชิงโครงสร้างแล้วเราจะรอดได้

[ชาติชาย เกษนัส ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง "ถึงคน…ไม่คิดถึง"]

หนังผม ลงทุน 25 ล้าน ซึ่งหนังสเกลสตูดิโอที่ลงทุนด้วยเงินเท่านี้มีน้อยมากๆ แต่ที่ช่วยให้คืนทุนได้ เพราะรายได้หลักในการฉายไปอยู่ที่พม่า จำนวนโรงที่ฉายที่นั่นก็ไม่ได้เยอะมาก สัปดาห์แรกที่ไปฉาย ผมฉาย 33 จอ, สัปดาห์ที่ 2 เหลือ 20 จอ, สัปดาห์ที่ 3 เหลือ 10 กว่าจอ ซึ่งก็เพียงพอที่จะเก็บเงินได้ 20 ล้าน

ส่วนค่าตั๋วหนังของเขาก็เริ่มตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป แต่คำนวณคร่าวๆ ก็จะอยู่ที่ 250,000 ใบ ซึ่งก็ถือว่ามหัศจรรย์เหมือนกันกับประเทศเขาที่มีจำนวนโรงหนังไม่เยอะเท่าบ้านเรา ทำให้น่าคิดเหมือนกันว่า บ้านเราที่มีถึง 1,000 กว่าจอ ปีหนึ่งมีรายได้ 4,000 กว่าล้าน เฉลี่ยแล้วตกจอละ 4 ล้านบาท หักค่าอื่นๆ อีกหลายอย่างจนเหลือไม่น่าจะคุ้มทุนในการทำ

[ภาพยนตร์เรื่อง "ถึงคน…ไม่คิดถึง (From Bangkok To Mandalay)"]


["เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์" ยื่นข้อเรียกร้องให้เร่งพาหนังไทยออกพ้นวิกฤตการณ์]


[คลิปข้อเรียกร้อง จาก "เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์" ฉบับเต็ม]

ข่าวโดย ผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น