xs
xsm
sm
md
lg

พม.น่าน เล็งยกเคส “ลุงจันทร์-ยายบาง-น้องต้นบุญ” ต้นแบบช่วยคนแก่-พิการทุกพื้นที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


น่าน - พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดน่าน เตรียมยก 3 เคสผู้ป่วย-ผู้ยากไร้ทั้ง “ลุงจันทร์-ยายบาง-น้องต้นบุญ” เป็นต้นแบบช่วยเหลือคนแก่-พิการ ไร้ที่พึ่งทุกพื้นที่ต่อ ขณะผู้ตรวจฯ แนกจัดเวิร์กชอปดึงศักยภาพ ศพค.99 แห่ง สร้างเครือข่ายช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคม

วันนี้ (25 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงพื้นที่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือ “น้องต้นบุญ” ที่มีหลอดลมและหลอดอาหารเป็นอันเดียวกันจนไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกตินั้น โอกาสนี้นางธนาภรณ์ได้หารือร่วมกับนายสถาพร ทองแดง พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดน่าน, น.ส.บุษฬาพอน ต่างใจ หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดน่าน พร้อมด้วย น.ส.ระรินทิพย์ เพ็ชรเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์บริการคนพิการจังหวัดน่าน และเจ้าหน้าที่ศูนย์ OSCC เพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ และไร้ที่พึ่งในพื้นที่จังหวัดน่าน

โดยขณะนี้ทาง พม.น่าน ได้ใช้แนวทางการช่วยเหลือโดยการให้ชุมชนจัดสวัสดิการเพื่อให้ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาสและไร้ที่พึ่งสามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุข มีการจัดการกรณีตัวอย่างที่ประสบผลสำเร็จ เช่น ลุงจันทร์ ตามใจ บ้านสันป่าสัก ต.เรือง อ.เมืองน่าน ผู้สูงอายุ และพิการไร้ที่พึ่ง ไม่มีคนดูแล ต้องการไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ แต่เนื่องจากสถานสงเคราะห์เต็มและมีลำดับการจองที่ยาวนานทำให้ชุมชนหันมาร่วมกันช่วยเหลือดูแล จนปัจจุบัน “ลุงจันทร์” สามารถใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนได้อย่างปกติและมีความสุข

ส่วนกรณี “คุณยายบาง บ้านมงคลนิมิต ต.ผาสิงห์ อ.เมืองน่าน” ซึ่งเป็นคนชราไร้ที่พึ่ง อาศัยคอกหมูดัดแปลงเป็นที่อยู่อาศัยตามลำพัง ได้มีการจัดการร่วมกับชุมชน จนสามารถหาแนวทางการช่วยเหลือได้ ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ขณะที่ “น้องต้นบุญ” บ้านน้ำเกี๋ยน ต.น้ำเกี๋ยน อ.ภูเพียง เด็กหญิงวัย 3 ขวบที่มีหลอดลมกับหลอดอาหารเป็นอันเดียวกันต้องได้รับการผ่าตัดรักษา แต่ครอบครัวประสบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย และชุมชนได้พยายามอย่างที่สุดที่จะช่วยเหลือ จนขณะนี้มีแนวทางการช่วยเหลือทั้งครอบครัวและน้องต้นบุญที่ชัดเจนมากขึ้น

ทั้งนี้ การช่วยเหลือทั้ง 3 กรณีเป็นการใช้แนวทางช่วยเหลือร่วมกันของชุมชน องค์กรท้องถิ่นและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง อันถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การช่วยเหลือประสบความสำเร็จ โดยเตรียมยก 3 กรณีตัวอย่างเป็นแนวทางการช่วยเหลือคนแก่ คนพิการ ผู้ยากไร้ ขยายผลไปในทุกพื้นที่

นางธนาภรณ์กล่าวว่า การจัดการเคสลุงจันทร์ ยายบาง และน้องต้นบุญ สามารถใช้เป็นตัวอย่างในการขยายผลแนวทางการช่วยเหลือ และจัดสวัสดิการในชุมชน ระดับหมู่บ้าน และตำบลได้ ต่อไปจะใช้เครือข่ายกลไกศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน หรือ ศพค. ซึ่งมีทุก อบต.รวม 99 แห่ง เพื่อช่วยค้นหาครอบครัวที่มีความเสี่ยงในพื้นที่ ทั้งเรื่องการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ และค้นหาผู้ยากไร้ ไม่มีที่พึ่ง เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน มีระบบการช่วยเหลือในชุมชน นอกจากนี้ยังจะค้นหาครอบครัวที่มีความเข็มแข็งในชุมชน เพื่อเป็นอาสาสมัครช่วยเฝ้าระวัง แจ้งเหตุ หรือการประสานงานช่วยเหลือได้ด้วย

โดยได้ให้คำแนะนำว่าจะต้องมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจในแนวทางปฏิบัติให้กับเครือข่าย ศพค.ทั้ง 99 แห่ง เพื่อดึงศักยภาพของเครือข่าย ทั้งเรื่องการจัดทำระบบฐานข้อมูล การค้นหาครอบครัวเข้มแข็ง ครอบครัวความเสี่ยง เข้าใจรูปแบบความรุนแรงในครอบครัวที่ไม่ใช่เพียงการทำร้ายร่างกาย แต่การเพิกเฉย ละเลยก็เป็นความรุนแรงด้วยเช่นกัน หาก พม.น่าน มีฐานข้อมูลกลุ่มเสี่ยงกลุ่มเป้าหมายของแต่ละพื้นที่ก็สามารถวางแผนการช่วยเหลือร่วมกันได้ โดยหน่วยงานของรัฐระดับอำเภอ อปท.พื้นที่ และชุมชน มีส่วนร่วมจัดสวัสดิการแก่ผู้ยากไร้ ด้อยโอกาส ขาดที่พึ่งยากจน ข่นแค้น แสนสาหัส โดยให้การช่วยเหลือครอบคลุมทุกด้าน ภายใต้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความรู้สึกมีคุณค่า และชุมชน ก็คือสถานสงเคราะห์เพื่อรองรับบุคคลเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม การให้ความช่วยเหลือตามระเบียบราชการยังมีข้อจำกัด และไม่เพียงพอ ซึ่งกองทุน “คนน่านไม่ทิ้งกัน” ของนายสุวัฒน์ พรมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน อันเป็นกองทุนที่ระดมความช่วยเหลือจากภาคเอกชนและผู้มีจิตศรัทธา จะเป็นช่องทางช่วยเหลือ เติมเต็มได้โดยพิจารณาช่วยเหลือเป็นรายกรณี ซึ่งหากสามารถจัดทำลักษณะรูปแบบนี้ได้ทุกพื้นที่ ก็สามารถแก้ไขปัญหาด้านการช่วยเหลือสังคมได้อย่างครอบคลุมและยั่งยืน ทำให้คนที่ไร้ที่พึ่ง ยากไร้ สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ที่สำคัญคือมีกำลังใจที่จะใช้ชีวิตให้มีคุณค่าทั้งต่อตนเองและสังคมส่วนรวมด้วย







กำลังโหลดความคิดเห็น