xs
xsm
sm
md
lg

จนท.ลงตรวจโรงงานจักรยานหลังถูกแชร์ประจานโซเชียล อ้างปล่อยน้ำเสีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ฉะเชิงเทรา - หลายหน่วยงานลงพื้นที่เข้าตรวจสอบดูโรงงานผู้ผลิตจักรยานหลากหลายยี่ห้อ สัญชาติไต้หวัน หลังถูกมือดีแห่แชร์โพสต์ประจานร้องเรียนถึงเจ้าหน้าที่รัฐผ่านทางโลกโซเชียล อ้างปล่อยน้ำเสียลงสู่ลำคลองสาธารณะทำน้ำเน่า กระทบต่ออาชีพชาวบ้าน ด้าน ผจก.ปฏิเสธลั่น ระบุกระบวนการผลิตใช้น้ำน้อยหากผิดจริงยอมรับนำไปแก้ไข

วันนี้ (21 ก.ค.) คณะเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย นางสมจิตต์ พันธุ์สุวรรณ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลท่าข้าม นายสัมพันธ์ โฆษิตพล หัวหน้าฝ่ายโรงงาน สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา นายอดิศักดิ์ กาญจนสาขา ผอ.ส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ฉะเชิงเทรา น.ส.สุนีรัตน์ รัตนะ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ จากสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 จ.ชลบุรี

ร.ต.วัชระพงศ์ นามโส หัวหน้าชุดยุทธการและเคลื่อนที่เร็ว มว.รส.ป.พัน 2 รอ. จ.ปราจีนบุรี (หัวหน้าชุดประสานงานและควบคุมพื้นที่ อ.บางปะกง) และเจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมมลพิษ ได้ลงพื้นที่เข้าไปตรวจสอบโรงงานผู้ผลิตรถจักรยาน “มายจักรยาน” ตั้งอยู่ภายในบริเวณปากทางเข้าโรงไฟฟ้าบางปะกง พื้นที่ ม.5 ต.ท่าข้าม อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นผู้ผลิตจักรยานยี่ห้อ COPPI, ZOOM, ARMY, UMAKO, และ ANCONA

หลังได้มีการแชร์ภาพ และข้อความร้องเรียนลักษณะประจานในโลกโซเชียลผ่านทางเฟซบุ๊กถึงบรรดานักปั่น และกลุ่มลูกค้าห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่ง และหน่วยงานผู้ดูแลคน-แผ่นดิน ว่า ได้รับความเดือดร้อนจากการลักลอบทิ้งกากเคมีจากกระบวนการผลิตจักรยาน ว่า “ใครพอจะทำอะไรได้บ้าง..ครับ เราต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน”

หลังขณะเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปทำการตรวจสอบแล้ว พบว่า ภายในโรงงานนั้นมีร่องระบายน้ำที่สามารถไหลผ่านจากภายในบริเวณโรงงานลงไปสู่ยังในคลองอ้อม-บางไทร ซึ่งเป็นลำคลองสาขาที่เชื่อมต่อลงสู่คลองพานทอง และเชื่อมต่อลงสู่แม่น้ำบางปะกงได้จริง แต่ไม่พบว่ามีน้ำไหลออกมาจากภายในบริเวณโรงงานลงไปตามร่องน้ำ และไหลลงไปสู่ลำคลองในขณะที่คณะเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปทำการตรวจสอบ

โดยมี นายมาโนช กฤตยาเมธา ผู้จัดการโรงงานดังกล่าวได้ออกมาปฏิเสธว่า ทางโรงงานไม่ได้เป็นต้นตอในการปล่อยน้ำเสียลงสู่ลำคลอง เนื่องจากกระบวนการผลิตภายในโรงงานนั้นใช้น้ำน้อยมาก อีกทั้งสารเคมีที่ใช้ภายในโรงงานนั้นจะเป็นลักษณะของการชุบเคลือบผิวโลหะ ซึ่งไม่ได้มีการระบายทิ้ง เพียงแต่เมื่อเจือจางแล้วจะทำการเติมสารเคมีลงเข้าไปในถังใหม่โดยที่ไม่ได้มีการปล่อยออกมานอกกระบวนการผลิต

ขณะที่การพ่นสีก็จะทำการเป็นระบบปิดด้วยม่านน้ำอยู่ภายใน ไม่ได้มีการรั่วไหลออกมายังภายนอก ส่วนกากเศษผงเม็ดสี และตะกันนั้นได้มีการว่าจ้างบริษัทเอกชนรับนำไปกำจัด เข้ามาเป็นผู้ดำเนินการขนออกนำไปกำจัดทิ้ง โดยน้ำที่จะไหลออกจากโรงงานไปตามท่อระบายนั้นเป็นเพียงน้ำฝน และน้ำที่มีการชะล้างในห้องน้ำเท่านั้น และทางโรงงานไม่ได้มีการใช้น้ำมันหล่อลื่นในการผลิตตามรูปภาพที่มีการส่งแชร์ร้องเรียนผ่านทางโลกโซเชียล

จากนั้นทางฝ่ายของผู้จัดการโรงงาน ฝ่ายผู้นำชุมชน และชาวบ้านผู้ที่ได้รับผลกระทบ และคณะเจ้าหน้าที่ได้เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือกันในการแก้ไขปัญหา ซึ่ง นายมาโนช ได้กล่าวในที่ประชุมต่อทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ และตัวแทนของชาวบ้าน ว่า หากทางโรงงานเป็นต้นตอของน้ำเสีย หรือเป็นผู้กระทำผิดจริงก็ยินดียอมรับที่จะนำไปแก้ไข แต่หากไม่ได้เป็นฝ่ายกระทำผิด หรือเป็นผู้กระทำก็ขอปฏิเสธ เนื่องจากภายในบริเวณพื้นที่แห่งนี้มีโรงงานหลายแห่งตั้งอยู่ในพื้นที่มากถึงกว่า 10 โรง

แต่ก็จะทำการแก้ไขตามความเห็นในที่ประชุมหาหรือกันในวันนี้ ด้วยการปิดปากร่องน้ำซึ่งเป็นจุดที่ชาวบ้านสงสัย เพราะน้ำฝน และน้ำจากการชะล้างภายในโรงงานไหลลงสู่ลำคลองได้เท่านั้น

ขณะที่ นางสมจิตต์ พันธุ์สุวรรณ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลท่าข้าม กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกันในวันนี้ได้ข้อสรุปว่า ทางเจ้าหน้าที่ได้มีคำสั่งให้ทางโรงงานเทคอนกรีตปิดปากท่อของร่องน้ำที่สามารถระบายลงสู่ลำคลองได้ ซึ่งทางโรงงานก็ได้รับปากว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 วัน โดยให้ทางสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 และกรมควบคุมมลพิษ เก็บตัวอย่างน้ำไปวิเคราะห์ พร้อมรายงานผล และให้ชุมชนช่วยกันเฝ้าระวังการแอบลักลอบปล่อยน้ำเสียออกจากโรงงานแห่งอื่นๆ ด้วย

นอกจากนี้ ยังได้ให้ทางโรงงานจักรยานทำระบบป้องกัน เพื่อไม่ให้น้ำทิ้งซึมออกไปปนเปื้อนกับแหล่งน้ำธรรมชาติได้ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ส.ค.59 โดยที่ทางเทศบาลตำบลท่าข้าม จะเป็นหน่วยงานที่จะเข้ามาทำการติดตามตรวจสอบ และรายงานผลต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น