xs
xsm
sm
md
lg

จี้กรมควบคุมมลพิษฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กาญจนบุรี - ผอ.ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา เร่งกรมควบคุมมลพิษฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดโดยเร็ว หวั่นสารตะกั่วขยายวงกว้างกระจายลงสู่อ่าวไทย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญที่สุดของประเทศ เผย 3 ปี มีเพียงผลการศึกษา โดย ปชช.ไม่มีส่วนร่วม

วันนี้ (10 ม.ค.) ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษกำหนดแผนงาน วิธีการ และดำเนินการฟื้นฟูตรวจและวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ให้ครอบคลุมทุกฤดูกาลอย่างน้อยฤดูกาลละ 1 ครั้ง จนกว่าจะพบว่าค่าสารตะกั่วในน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ไม่เกินค่ามาตรฐาน เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี และให้ชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 คน เป็นเงินรายละ 177,199.55 บาท โดยกำหนดให้ดำเนินการภายใน 90 วัน

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา เปิดเผยต่อว่า แม้ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาว่า กรมควบคุมมลพิษดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ล่าช้า และให้เร่งทำแผนฟื้นฟูตลอดจนดำเนินการฟื้นฟูภายใน 90 วัน แต่การดำเนินการก็ยังล่าช้าอยู่เช่นเดิม  

หากไม่เร่งฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ น้ำในลำห้วยคลิตี้ที่ปนเปื้อนสารตะกั่วได้ไหลลงสู่แม่น้ำแม่กลอง ซึ่งน้ำจากแม่น้ำแม่กลองที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ได้ผันลงสู่คลองมหาสวัสดิ์ เพื่อเป็นน้ำดิบที่นำไปผลิตน้ำประปาให้คนกรุงเทพฯ และคนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาใช้ ซึ่งคนกรุงเทพฯ และปริมลฑลอาจจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน และแม่น้ำแม่กลองก็จะไหลลงสู่อ่าวไทย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญที่สุดของประเทศ

ความเสียหาย และสูญเสียที่ชาวบ้านคลิตี้ได้รับ ทำให้ชาวบ้านคลิตี้ล่าง 151 คน ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเรียกค่าเสียหายจากบริษัทผู้ก่อมลพิษ 1,050,000 บาท ต่อมา ในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำนวนค่าเสียหายให้บริษัทจ่ายตามศาลชั้นต้นปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา

ด้านนายธนกฤต โต้งฟ้า ชาวกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ล่างที่ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า ปัจจุบันครบ 3 ปี นับจากมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด แต่กรมควบคุมมลพิษยังไม่เริ่มการฟื้นฟูลำห้วยเลย และการศึกษาก็ไม่มีส่วนร่วมของชาวบ้าน ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของชาวบ้าน เพราะไม่ได้บอกว่าชาวบ้านจะสามารถกลับไปใช้น้ำ และกินปลาในลำห้วยได้อีกเมื่อใด ตลอดจนไม่มีการพูดถึงว่าสุขภาพของชาวบ้านจะดีขึ้นหรือไม่อย่างไร

ตั้งแต่ปี 2542 กระทรวงสาธารณสุขได้ตรวจเลือดชาวบ้านคลิตี้ล่างเพื่อหาระดับสารตะกั่วในเลือด พบว่า ชาวบ้านทั้งเด็ก และผู้ใหญ่มีระดับสารตะกั่วในเลือดสูง โดยเด็กอายุ 0-6 ปี มีระดับตะกั่วในเลือดเฉลี่ย 23.56 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เด็กอายุ 7-15 ปี มีระดับตะกั่วในเลือดเฉลี่ย 28.30 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป มีระดับตะกั่วในเลือดเฉลี่ย 26.31 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ขณะที่การสำรวจระดับตะกั่วในเลือดเฉลี่ยของคนไทยทั่วไปเมื่อปี 2538-2539 โดยกองอาชีวอนามัย พบว่ามีค่า 4.29 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

นอกจากนี้ กรมควบคุมมลพิษได้ตรวจสภาพแวดล้อมในลำห้วยคลิตี้ พบว่า ตะกอนธารน้ำมีตะกั่วจากกิจกรรมเหมืองแร่ปนเปื้อนจำนวนมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น