xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ สั่งระงับแล้ว! โครงการฉาว “อบจ.โคราช” ขุดลอกทำถนน 346 ล้าน พร้อมตั้ง กก.สอบเอาผิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ผู้ว่าฯ โคราช สั่งระงับแล้ว! โครงการขุดลอก-ทำถนน อบจ.โคราชฉาวโฉ่ 346 ล้าน ขยันซอยย่อยอื้อ 683 โครงการ พร้อมตั้ง กก.ตรวจสอบ 2 ชุด มุ่งประเด็นซอยย่อยเป็นโครงการละ 5 แสนเท่ากันหมด หวังเลี่ยงเปิดประมูลเข้าข่ายผิด กม.ฮั้ว และมีโครงการซ้ำซ้อนไม่ทำจริงเพียบ ด้านท้องถิ่นจังหวัดฯ เผยเบื้องต้นพบเบิกจ่ายเงินแล้วกว่า 10 โครงการและเจอมีการกระทำความผิด พร้อมส่งหนังสือสั่ง อบจ.เชือดทั้งวินัย-อาญา จนท.และผู้เกี่ยวข้อง

วันนี้ (13 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีที่สำนักตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จังหวัดนครราชสีมา ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมา ดำเนินโครงการขุดลอกคลอง และถนน จำนวนรวม 683 โครงการๆ ละ 500,000 บาท เท่ากันหมด วงเงินรวม 346,076,680 บาท ซึ่งแบ่งที่มางบประมาณออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. เงินสะสม สำหรับทำโครงการขุดลอกคลอง จำนวน 240 โครงการ วงเงิน 120 ล้านบาท และ 2. การอนุมัติเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 โดยโอนลดงบประมาณ จำนวน 180 โครงการ งบประมาณ 226,076,680 บาท เพื่อโอนเพิ่มสำหรับทำโครงการขุดลอกคลองและถนน จำนวน 443 โครงการ งบประมาณ 226,076,680 บาท

โดย สตง.เห็นว่าการดำเนินงานโครงการทั้ง 2 ส่วน มีการตั้งราคางานโครงการไว้ 5 แสนบาท เท่ากันทุกโครงการทั้ง 683 โครงการนั้น เป็นการหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว

ต่อมาเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2559 สตง.นครราชสีมา ได้ทำหนังสือถึง ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี นายกอบจ.นครราชสีมา และนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้พิจารณาระงับ ยับยั้ง หรือทบทวนการดำเนินโครงการดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ภาครัฐนั้น

ล่าสุดวันนี้ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงเรื่องดังกล่าวว่า ขณะนี้ทางจังหวัดได้มีหนังสือสั่งให้ อบจ.นครราชสีมาระงับโครงการดังกล่าวไว้ทั้งหมดแล้วตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงใน 2 เรื่องหลัก คือ กรณีที่มีการร้องเรียนว่าเป็นการแบ่งซื้อแบ่งจ้างในวงเงินโครงการละ 5 แสนบาท เท่ากันหมด เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคา เพื่อให้การจัดหามาเป็นการตกลงราคากับผู้รับเหมา

ส่วนเรื่องที่ 2 คือ กรณีที่ร้องเรียนว่ามีการเบิกจ่ายเงินโครงการโดยไม่มีการทำงานหรือไม่ได้ทำงานแต่กลับมายื่นเบิกเงิน อันนี้ได้ตั้งคณะกรรมการอีกชุดลงไปตรวจสอบพื้นที่จริงในส่วนของโครงการที่นำมาเบิกจ่ายเงิน ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังลงไปดูรายละเอียดที่ อบจ.นครราชสีมา ว่ามีโครงการใดบ้างที่ยื่นฎีกาเบิกจ่ายเงินไปแล้ว เพื่อคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นมาจะได้ตามลงไปดูพื้นที่โครงการว่ามีร่องรอยการดำเนินการหรือไม่อย่างไร

นายวิเชียรกล่าวอีกว่า สำหรับคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงนี้ มีท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมาเป็นประธาน โดยได้กำชับไปว่าให้เร่งรัดการดำเนินการตรวจสอบให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการทำงานแต่อย่างใด เบื้องต้นทราบว่าโครงการนี้มีการเบิกจ่ายเงินไปแล้วประมาณ 30 โครงการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐานต่างๆ เพื่อติดตามดูว่าโครงการใดทำหรือไม่ทำแล้วมาเบิกจ่ายเงินกัน สร้างความเสียหายให้แก่รัฐมากน้อยแค่ไหน เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

นายเมธา รุ่งฤทัยวัฒน์ ท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมาในฐานะประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการขุดลอกและทำถนนของ อบจ.นครราชสีมา กล่าวว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่แต่งตั้งขึ้นมีจำนวน 2 ชุดๆ ละ 3 คน ทำหน้าที่ในการ ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินสะสม สำหรับทำโครงการขุดลอกคลอง และการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 สำหรับทำโครงการขุดลอกคลองและถนน ของ อบจ.นครราชสีมา ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา

ล่าสุดขณะนี้ได้มีการตรวจสอบไปแล้วบางส่วน โดยพบว่ามีการเบิกจ่ายเงินในโครงการดังกล่าวไปแล้วจำนวน 11 โครงการๆ ละ 500,000 บาท รวมเป็นเงิน 5.5 ล้านบาท ซึ่งจากการลงพื้นที่ตรวจสอบพร้อมเจ้าหน้าที่ของ สตง.นครราชสีมา พบว่ามีการกระทำความผิด และรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาทราบแล้ว พร้อมทำหนังสือไปยัง อบจ.นครราชสีมา ให้มีการลงโทษทั้งทางวินัยและอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้องเนื่องจากพบการกระทำความผิดเกิดขึ้น

นายเมธากล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการตรวจสอบนั้น คณะกรรมการฯ จะดูว่า เงินสะสมที่นำออกมาใช้จ่ายในโครงการดังกล่าวมีอยู่ในแผนการทำงานหรือไม่ เช่น หากนำเงินออกมาใช้ในโครงการนี้ สำหรับปี 2559 ต้องมีโครงการนี้บรรจุอยู่ในแผนการทำงานขององค์กร ซึ่งแผนแต่ละหน่วยงานจะออกมาตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2558 ทั้งนี้ สามารถแก้ไขปรับปรุงในภายหลังได้ แต่โครงการต้องเกี่ยวข้องกันไม่ใช่ตั้งขึ้นมาลอยๆ เพื่อให้มีการใช้จ่ายเงินดังกล่าว ถือเป็นความผิดปกติ

“คณะกรรมการทั้งสองชุดนี้จะเร่งดำเนินการตรวจสอบให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุดตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดการตรวจสอบได้มากนัก” นายเมธากล่าวในตอนท้าย



กำลังโหลดความคิดเห็น