trong>อุบลราชธานี - สุดอลังการ “ทุ่งดอกอีฮิน” รับวันเข้าพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี โดยเป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองทั้งสวยงามและกินได้ ปีหนึ่งมีให้ชมครั้งเดียวช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.เท่านั้น
ที่จังหวัดอุบลราชธานี มีผู้โพสต์ภาพความงดงามของดอกนิลุบล หรือมีชื่อเรียกภาษาถิ่นว่า “ดอกอีฮิน” เกิดอยู่ในทุ่งนา ซึ่งเป็นพื้นที่ว่างหลังหมู่บ้านจัดสรรใกล้วัดบ้านตำแย บ้านนาเมือง ต.ไร้น้อย อ.เมืองอุบลราชธานี เมื่อไปสำรวจพบดอกอีฮินสีม่วงเข้มกำลังชูช่อเต็มท้องทุ่งพื้นที่ 3 ไร่เศษ
ขณะเดียวกันมีนักท่องเที่ยวที่ทราบจากการแชร์ภาพจากเพจอุบลวันนี้ ก็ได้พากันมาเที่ยวชมความงามของทุ่งดอกอีฮิน พร้อมลงทุนถอดรองเท้าเดินลุยน้ำที่ท่วมขังจากฝนตกเพื่อลงไปยืนโพสท่าถ่ายภาพเก็บเป็นที่ระลึก และส่งต่อให้คนรู้จักได้ดูความงามกันหลายมุม
นายวรสิทธิ์ ขุนทรัพย์ อายุ 55 ปี ผู้ใหญ่บ้านนาเมือง ซึ่งดอกอีฮินขึ้นอยู่เล่าว่า ดอกอีฮินเป็นพืชพันธุ์ไม้พื้นเมืองขึ้นเองตามธรรมชาติ ระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน หลังจากนั้นก็จะโรยราเหี่ยวตายไปตามธรรมชาติ นอกจากจะมีดอกที่สวยงามตามธรรมชาติ ยังมีผู้นิยมนำลำต้นไปกินกับอาหารกลุ่มลาบ ต้ม
การจะเห็นดอกอีฮินขึ้นชูช่อบานสะพรั่งเต็มท้องทุ่งแบบนี้ปัจจุบันหาดูได้ยาก เพราะต้องเป็นพื้นที่มีน้ำชื้นแฉะเล็กน้อย และพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ขณะนี้ก็ถูกนำไปพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยมากขึ้น แต่ถ้าต้องการชมก็ให้รีบมาในช่วงเข้าพรรษานี้จะดีที่สุด
ส่วนข้อมูลด้านชีวภาพระบุว่า ผักนิลุบล หรือผักอีฮิน เป็นวัชพืชน้ำชนิดหนึ่งขึ้นเองตามธรรมชาติ ลักษณะทั่วไปคล้ายผักตบไทย แต่มีขนาดเล็กกว่า อายุ 1 ปี สูง 5-35 ซม. ลำต้นตั้งตรงมีเหง้าอยู่ใต้ดิน เมื่อเจริญในน้ำจะมีรากฝอยสีน้ำตาลแดงจำนวนมาก ใบกว้าง 2-45 มม. ยาว 9-85 ม.ม. เป็นใบเดี่ยวรูปหัวใจคล้ายผักตบชวา แต่เล็กกว่า
ด้านในของก้านใบมีเยื่อบางสีขาว ดอกเป็นช่อดอก กลีบดอกสีม่วงออกจากก้านใบ ดอกย่อย 6-15 ดอก ดอกย่อยมีกลีบดอก 6 กลีบ กลีบดอกมีสีม่วงน้ำเงิน ผลมีขนาดยาวประมาณ 1 ซม. เมล็ดสีน้ำตาล พบได้ทั่วไปตามท้องทุ่ง ท้องนาแหล่งน้ำธรรมชาติ