สุรินทร์ - พล.ร.อ.ณรงค์ ยกเครือข่าย ศปถ.เมืองสุรินทร์ ต้นแบบรูปธรรมเสริมสร้างสุขภาพ เผยงานบุญปลอดเหล้าช่วยลดทำผิดกฎหมายร้อยละ 69
วันนี้ (6 ก.ค.) ที่โรมแรมมาเจสติก จ.สุรินทร์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานสร้างเสริมสุขภาพ จ.สุรินทร์ โดยมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุน สสส. เป็นประธานในที่ประชุมโดยมีภาคีสร้างเสริมสุขภาพใน จ.สุรินทร์เข้าร่วม โดย พล.ร.อ.ณรงค์กล่าวว่า เป็นการติดตามและรับฟังการดำเนินสร้างเสริมสุขภาพด้านต่างๆ ที่ชุมชนและภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ร่วมกับ สสส. พบว่าการดำเนินงานหลายส่วนเกิดผลเป็นรูปธรรม สามารถเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ นำไปปรับใช้และถือเป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้ประชาชนในพื้นที่รู้สึกตื่นตัว เช่น การเปลี่ยนค่านิยมจากงานบุญเปื้อนเหล้า ให้เป็นงานบุญปลอดเหล้าในงานกาชาดสร้างสุข งานช้างปลอดภัย จ.สุรินทร์ การเปลี่ยนค่านิยมในงานประเพณีเป็นเรื่องที่ยากต้องอาศัยระยะเวลาและความต่อเนื่องในการทำงาน
ทั้งนี้ ในปัจจุบันสามารถลดสถิติความรุนแรงและการกระทำผิดกฎหมายได้กว่า 69 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อน และยังมีรูปแบบการบริหารจัดการศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ในระดับอำเภอ ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ให้เป็นกลไกการทำงานที่เกิดขึ้นจริง โดยมีต้นแบบการทำงานใน ศปถ.อ.จอมพระ ที่ไม่ได้ทำงานป้องกันอุบัติเหตุเฉพาะในช่วงเทศกาล แต่เป็นเครือข่ายสำคัญในการทำงานตลอดทั้ง 365 วัน ลงลึกในระดับตำบลและมีความร่วมมือกันระหว่างชุมชน ตลอดจนการสร้างวัฒนธรรมการอ่านเพื่อความสุขที่ได้ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่จนเกิดสวัสดิการการอ่าน จัดตั้งธนาคารหนังสือ บริเวณหน้า อบจ.สุรินทร์ และยังมีกระบวนการร่วมสร้าง ต.สุขภาวะ ด้วยการจัดการสภาพแวดล้อมเอื้อต่อสุขภาพ ทั้งการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการเกษตร เกิดตลาดสีเขียว สร้างรายได้ให้ชุมชน ที่สำคัญมีการใช้ “กลไกสภาผู้นำ” เป็นหัวใจในการจัดการปัญหาภายในชุมชนเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการจัดการปัญหาในพื้นที่
ด้านนายสุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส.กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การทำงานสร้างเสริมสุขภาพใน จ.สุรินทร์ประกอบด้วยงานเชิงรุกเพื่อแก้ปัญหาอุบัติเหตุและการสร้างเสริมความปลอดภัย การลดการบริโภคแอลกอฮอล์ ยาสูบ สารเสพติด และพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ พร้อมกับส่งเสริมการออกกำลังกาย และงานเชิงรับหรือการเปิดโอกาสให้ชุมชนได้ริเริ่มงานสร้างเสริมสุขภาพเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่โดยการใช้ทุนและศักยภาพในชุมชน อันได้แก่ การจัดการสิ่งแวดล้อมผ่านการจัดการขยะชุมชน และการสร้างชุมชนให้น่าอยู่ผ่านกลไกสภาผู้นำชุมชนเพื่อความยั่งยืนในการจัดการปัญหาของพื้นที่
ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2557-2559 มีโครงการในพื้นที่ จ.สุรินทร์ ที่ยังคงขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพทั้งสิ้น 274 โครงการ ส่งผลต่อการสร้างสุขภาวะในชุมชน 222 แห่ง สถานศึกษาและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 79 แห่ง องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ 17 แห่ง สถานพยาบาล 8 แห่ง และสถานประกอบการ 2 แห่ง