เชียงราย - กลุ่มผู้ประกอบการหอพักรอบมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายรวมตัวประท้วงซ้ำอีก จี้มหาวิทยาลัยฯ ล้มเลิกแผนจับมือทุนยักษ์ผุดหอพัก-ศูนย์การค้าใหญ่มูลค่าเกือบหมื่นล้าน ชี้มีแต่ก่อผลกระทบต่อคนท้องถิ่น-ชาวบ้าน
วันนี้ (22 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายผู้ประกอบการหอพักหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มร.ชร.) และประชาชนในพื้นที่ ต.บ้านดู่ อ.เมืองเชียงราย ประมาณ 50 คน ได้รวมตัวชุมนุมหน้าทางเข้ามหาวิทยาลัยฯ เพื่อเรียกร้องขอให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ ยุติโครงการที่เป็นกระแสว่าอาจจะมีการก่อสร้างหอพัก ศูนย์การค้า ร้านค้า ฯลฯ ภายในมหาวิทยาลัย มูลค่า 8,900 ล้านบาท
ผู้ชุมนุมต่างถือป้ายข้อความต่างๆ เช่น เอาโครงการขออธิการบดีออกไปเราไม่เอาเมืองใหม่ 8,900 ล้าน ฯลฯ รวมทั้งมีการนำป้ายไปติดที่สะพานลอยหน้าตลาดบ้านดู่ แจกจ่ายเอกสารที่มีเนื้อหาว่า “จากการที่มีกระแสข่าวโครงการดังกล่าวทำให้ชาวบ้านไปสอบถามอธิการบดี มร.ชร.แล้วถึง 5 ครั้ง แต่ได้รับการปฏิเสธว่าไม่มี เป็นเรื่องของอนาคต เมื่อเข้าร้องต่อศูนย์ดำรงธรรม จ.เชียงราย ก็ไม่ได้ข้อยุติ”
กลุ่มผู้ชุมนุมได้ปักหลักถือป้ายประท้วง พร้อมจัดตัวแทนกล่าวปราศรัยต่อต้านโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บ้านดู่ อาสารักษาดินแดน (อส.) อ.เมืองเชียงราย เจ้าหน้าที่ทหาร ฯลฯ ได้เข้าเจรจาเพื่อให้ได้ข้อยุติ
นายวัฒน์ฐิกรณ์ เชิดธีระกุล ตัวแทนผู้ชุมนุม กล่าวว่า จากการที่มีกระแสเรื่องโครงการดังกล่าว ทำให้พวกเราต้องมาชุมนุมกัน เพราะหากโครงการดังกล่าวเป็นจริงจะมีผลกระทบต่อ 4 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ประกอบการหอพัก กลุ่มผู้ค้ารายย่อยท้องถิ่น กลุ่มชาวบ้านที่ใช้น้ำจากหนองบัวในมหาวิทยาลัยฯ และกลุ่มผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดิน
โดยเฉพาะกลุ่มหอพักนั้นจะได้รับผลกระทบทันที เพราะโครงการนี้จะทำให้มีหอพัก เพิ่มมากขึ้นถึง 5,000 ห้อง ซึ่งจะส่งผลทำให้ผู้ประกอบการหอพักที่อยู่รอบๆ ประมาณ 600 แห่ง ใน 19 หมู่บ้าน ไม่มีนักศึกษาเข้าพัก เพราะจะมีการนำนักศึกษาทั้งหมดพักในหอพักภายในมหาวิทยาลัยฯ แทน แล้วพวกตนจะอยู่อย่างไร
นายวัฒน์ฐิกรณ์กล่าวอีกว่า ตามข่าวที่มีออกมา ผู้ที่จะร่วมทุนกับมหาวิทยาลัยฯ ดำเนินโครงการนี้เป็นกลุ่มทุนใหญ่ที่ไม่ได้ลงทุนเฉพาะหอพัก แต่ยังมีศูนย์การค้า ร้านค้า ฯลฯ ด้วย ซึ่งจะกระทบร้านค้าท้องถิ่นด้วย
“พวกผมเห็นว่าการออกนโยบายพัฒนามหาวิทยาลัยเป็นเรื่องที่ดี และเห็นด้วย แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องด้วย แต่กรณีนี้ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะกระทบต่อประชาชน ผู้ประกอบการต้องกู้เงินมาสร้างหอพักรายละนับ 10 ล้าน เมื่อต้องถูกกลุ่มทุนใหญ่ทำลายเช่นนี้คงลำบากกันมาก”
ด้านนายพิวรรณ สุริยะจันทราทอง ตัวแทนผู้ชุมนุมอีกคนกล่าวว่า เดิมที่ดินของมหาวิทยาลัยฯ เป็นที่ที่ชาวบ้านร่วมกันบริจาคเพื่อให้มีสถาบันการศึกษาสำหรับพัฒนาพื้นที่ แต่กลับจะนำไปใช้เพื่อลงทุนแล้วมีผลกระทบต่อชาวบ้านอีก จึงเห็นว่าไม่ถูกต้อง
ต่อมา ผศ.เจษฎา สุวรรณ รองอธิการบดี มร.ชร.ได้เข้าเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยระบุว่าไม่สามารถให้ข้อมูลใดๆ ได้ จึงขอให้ชาวบ้านส่งตัวแทนไปร่วมประชุมหารือกันที่ห้องประชุมภายใน มร.ชร.ในช่วงบ่าย แต่กลุ่มผู้ชุมนุมแจ้งว่าต้องการเข้าไปทั้งหมด เพราะไม่มีแกนนำ จนเกิดการโต้แย้งกันพักใหญ่
โดยเฉพาะเมื่อ ผศ.เจษฎาแจ้งว่าปัจจุบันมีการอนุรักษ์พันธุ์ปลาในหนองบัวอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบ ทำให้ตัวแทนผู้ชุมนุมไม่พอใจที่มีการชี้แจงในเรื่องที่ไม่สอดคล้องกับข้อเรียกร้อง จน ผศ.เจษฎาต้องถอยออกจากที่ชุมนุมไป และมีผู้ชุมนุมบางคนตะโกนด่าทอด้วยความไม่พอใจด้วย
จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมฯ ได้พากันถือป้ายประท้วงเพื่อจะเดินเข้าไปในมหาวิทยาลัยฯ ทำให้ทาง พ.อ.นพดล วัชรจิตบวร รอง เสธ.มทบ.37, พ.ต.อ.สิทธิชัย ไกรแสง ผกก.สภ.บ้านดู่ เข้าไปเจรจาและให้ผู้ชุมนุมจัดตัวแทนแค่ 10 คนเข้าร่วมประชุมหารือเพื่อหาทางออก ทำให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติได้