รอยเตอร์ - คณะกรรมการการลงทุนที่ได้รับการปฏิรูปชุดใหม่ของพม่าจะเริ่มตรวจสอบข้อเสนอโครงการการลงทุนจากต่างชาติรวมมูลค่า 2,300 ล้านดอลลาร์ ในเดือนนี้ หลังระงับการดำเนินการมาตั้งแต่เดือน เม.ย. ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่อาวุโส
พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซานซูจี ที่กวาดชัยชนะในการเลือกตั้งเดือน พ.ย. เข้าครองอำนาจการปกครองประเทศ และการคลายมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ เมื่อเดือน พ.ค. ช่วยเพิ่มความหวังว่าการลงทุนจากต่างชาติจะหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศ จากที่ต้องทนทุกข์เพราะเศรษฐกิจย่ำแย่นานหลายทศวรรษภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหาร
แต่นับตั้งแต่รัฐบาลใหม่เข้ากุมอำนาจในเดือน เม.ย. ยังไม่มีข้อเสนอการลงทุนใดได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการการลงทุนพม่า (MIC) หน่วยงานที่มีอำนาจในการตัดสินใจว่าโครงการใดควรได้รับอนุมัติ เนื่องจากรอการปรับปรุงโครงสร้างใหม่ โดยสำนักงานประธานาธิบดี ที่ประธานาธิบดีถิ่น จอ เพิ่งประกาศคณะทำงานที่ได้รับแต่งตั้งใหม่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
อ่อง นาย อู ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการคณะกรรมการอีกครั้งหนึ่ง กล่าวว่า มีโครงการยื่นเสนอมาทั้งหมด 102 โครงการ นับตั้งแต่เดือน เม.ย. และทั้งหมดอยู่ในระหว่างรอการอนุมัติ โดยประมาณครึ่งของข้อเสนอเหล่านั้นเป็นโครงการการลงทุนจากต่างชาติ ที่มีมูลค่ารวมประมาณ 2,300 ล้านดอลลาร์
ความล่าช้าเกิดขึ้นเพราะพรรค NLD ต้องการที่จะเลือกคนที่เหมาะสมต่อคณะกรรมการ แต่การรอคอยที่ยาวนานนี้ได้ก่อให้เกิดความวิตกในหมู่ชุมชนนักธุรกิจที่คิดใคร่ครวญว่า พรรค NLD ที่เต็มไปด้วยสมาชิกที่เป็นนักเคลื่อนไหว และอดีตนักโทษการเมืองจะจัดการการลงทุนอย่างไร
“มีความวิตกอยู่บ้างในชุมชนนักธุรกิจ และยังมีข่าวลือในหมู่ชุมชนนักธุรกิจว่า จะไม่มี MIC อีกต่อไป นอกจากนั้น ยังมีนักลงทุนบางส่วนที่ยื่นข้อเสนอต่อ MIC ไปแล้วกังวลถึงความล่าช้าที่ MIC เพราะสำหรับพวกเขาแล้ว เวลาคือเงิน ยิ่งล่าช้านั่นหมายความว่าพวกเขาต้องใช้เงินมากขึ้น” อ่อง นาย อู กล่าวต่อรอยเตอร์
อ่อง นาย อู กล่าวว่า การประชุมนัดแรกของคณะทำงานปรับใหม่ ที่มีรัฐมนตรีกระทรวงวางแผนและการคลังเป็นหัวหน้าคณะ น่าจะเกิดขึ้นในปลายเดือน มิ.ย. และคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 8 สัปดาห์ในการตรวจสอบข้อเสนอทั้งหมด แต่ทาง MIC ยังคงรอรายชื่อภาคการลงทุนที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษจากพรรค NLD
และแม้ว่าจะได้ไฟเขียวจาก MIC แล้ว แต่ก็ไม่รับประกันว่า การลงทุนจะคืบหน้าอย่างราบรื่น ดังเช่นในเดือน พ.ค. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตัดสินใจที่จะยกเลิกโครงการโรงพยาบาลเอกชนมูลค่า 70 ล้านดอลลาร์ ในนครย่างกุ้ง ของกลุ่มบริษัท IHH Healthcare Berhad ของมาเลเซีย ที่เริ่มดำเนินก่อสร้างไปเมื่อเดือน ม.ค. โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบุว่า ขั้นตอนการประมูลที่ดินขนาด 10.75 ไร่ ขาดความโปร่งใส
เมื่อวันพุธ (8) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังยุติข้อเสนอขยายท่าเรือบนแม่น้ำย่างกุ้ง โดยให้เหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้ง 2 โครงการได้รับการอนุมัติจาก MIC
อ่อง นาย อู กล่าวว่า การตัดสินใจเหล่านั้นละเมิดกฎการลงทุน และเสี่ยงลดความเชื่อมั่นของนักลงทุนในคณะกรรมาธิการ
“ตามกฎหมาย รัฐบาลรับประกันว่าจะไม่มีการยุติโครงการที่ได้รับอนุมัติจาก MIC ในฐานะเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบการส่งเสริมการลงทุน มันไม่ใช่เรื่องดีนักสำหรับภาพลักษณ์ของประเทศ หากเราต้องการที่จะส่งเสริมการลงทุนจริงๆ เราควรต้องพิจารณาการคุ้มครองผู้ลงทุน” อ่อง นาย อู กล่าว.