\อุบลราชธานี - ผอ.สคร.ที่ 10 จ.อุบลฯ สออกโรงเตือนคน 5 จังหวัดอีสานใต้ ตั้งแต้ต้นปีถึงปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคหน้าฝนกว่า 1.8 หมื่นคน เสียชีวิตแล้ว 12 ราย แบ่งเป็นโรคไข้ฉี่หนู ไข้เลือดออก และปอดบวม โดยจังหวัดศรีสะเกษ ครองแชมป์ทั้งจำนวนผู้ป่วยที่สูงกว่าทุกจังหวัด และมีผู้เสียชีวิตทั้ง 3 โรค ถึง 11 คน แนะวิธีป้องกันทำตัวให้แข็งแรง รักษาความสะอาดสิ่งแวดล้อม และมีอาการป่วยน่าสงสัยรีบไปพบแพทย์ทันที
นายแพทย์ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ช่วงฤดูฝนจะพบการระบาดของโรคติดต่อหลายชนิด ในจำนวนนี้มีโรคไข้ฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) ซึ่งพบมากในช่วงฤดูฝน เพราะมีกิจกรรมที่ต้องเดินเหยียบย่ำแหล่งน้ำขังเฉอะแฉะ เช่น การดำนา การช้อนหาปลา จับกบจับเขียดตามท้องไร่ท้องนา จึงเอื้อต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรค
จากสถิติข้อมูลกลุ่มระบาดวิทยา สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-11 มิ.ย.2559 พบรายงานผู้ป่วยในเขตพื้นที่รับผิดชอบ 5 จังหวัด ได้แก่ จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และมุกดาหาร จำนวน 145 ราย เสียชีวิต 4 ราย เป็นชาวจังหวัดศรีสะเกษทั้งหมด และมีผู้ป่วยมากถึง 100 คน
นอกจากโรคฉี่หนูแล้ว ยังพบในกลุ่มโรคไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ มาลาเรีย ไวรัสตับอักเสบ อหิวาตกโรค ซึ่งพบผู้ป่วยทั้งหมด 18,454 ราย เสียชีวิต 12 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก 3 ราย ปอดบวม 5 ราย และโรคฉี่หนู 4 ราย โดยเป็นผู้เสียชีวิตอยู่ในจังหวัดศรีสะเกษ มากถึง 11 ราย อีก 1 ราย อยู่จังหวัดอำนาจเจริญ
วิธีป้องกันโรคที่พบในหน้าฝนดีที่สุด คือ ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ สวมเสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรค เด็กและผู้สูงอายุควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากสภาพอากาศมีความชื้นสูง หนาว เย็น ซึ่งทำให้คน 2 กลุ่มนี้มีภูมิต้านทานที่ลดลง
ทั้งนี้ หากมีอาการไข้ในช่วงนี้ไม่ควรซื้อยามากินเอง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการที่โรงพยาบาลทุกแห่งทันทีก็จะลดอัตราการเสียชีวิตลงได้