xs
xsm
sm
md
lg

เตือน 5 จังหวัดอีสานใต้พบไข้ฉี่หนูระบาด ศรีสะเกษแชมป์ป่วยตายมากสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี - สคร.10 จ.อุบลราชธานี เผยตัวเลขน่าตกใจ หน้าฝนชาวอีสานใต้ป่วยเป็นโรคไข้ฉี่หนูแล้วกว่า 250 ราย ตาย 6 ราย โดยเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษเป็นแชมป์ป่วยและตายมากที่สุด เตือนให้ช่วยกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์หนู เลี่ยงการเดินย่ำในบริเวณน้ำท่วมขังลดความเสี่ยงรับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เมื่อมีอาการปวดหัว เจ็บน่องให้รีบพบแพทย์ทันที

นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า โรคไข้ฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) เป็นโรคที่พบได้ตลอดปี แต่จะพบมากในช่วงฤดูฝน เนื่องจากมีฝนตกหนัก น้ำขังเฉอะแฉะ เอื้อต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ข้อมูลจากกลุ่มระบาดวิทยาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 13 สิงหาคม 2559 มีผู้ป่วยโรคไข้ฉี่หนูในเขตรับผิดชอบ 5 จังหวัดอีสานใต้ทั้งสิ้น 252 ราย เสียชีวิต 6 ราย

ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่สุดมีอายุระหว่าง 45-54 ปี ส่วนอาชีพที่มีผู้ป่วยกว่าครึ่งหนึ่ง คือ เกษตรกร จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ จังหวัดศรีสะเกษ 165 ราย รองลงมาคือ อุบลราชธานี 60 ราย ยโสธร 17 ราย อำนาจเจริญ 8 ราย และมุกดาหาร 2 ราย สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 6 รายเป็นชาวจังหวัดศรีสะเกษ

นพ.ศรายุธกล่าวต่อว่า โรคฉี่หนูเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เช่น หนู โค กระบือ สุกร สุนัข และแมว แต่หนูเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญที่สุดของโรคนี้ เพราะเมื่อหนูฉี่ลงในแหล่งมีน้ำขัง หรือตามดินโคลน เชื้อโรคจะติดต่อเข้าทางบาดแผล หรือตามรอยผิวหนังที่ถลอก หรือผิวหนังที่แช่อยู่ในน้ำนานๆ

ดังนั้น ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ คนงานโรงฆ่าสัตว์ กรรมกรขุดลอกคูคลอง จะเป็นคนกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับเชื้อโรคนี้มากที่สุด

ส่วนวิธีป้องกันโรคฉี่หนูสามารถทำได้ตามมาตรการ 4 ลด คือ 1. ลดหนู โดยเก็บอาหารที่กินเหลือ หรือขยะให้มิดชิดไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู ลดการระบาดของหนูในที่พักอาศัย ตามไร่นา 2. ลดการสัมผัส โดยการใส่รองเท้าบูต หรือเครื่องป้องกันอื่นๆ หลังขึ้นจากการเดินเหยียบย่ำน้ำรีบล้างเท้า ล้างตัวให้สะอาด

3. ลดการเสียชีวิต โดยสังเกตอาการ ถ้ามีไข้ปวดศีรษะรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อผสม (โดยเฉพาะที่โคนขาหรือน่อง) หลังจากแช่ หรือย่ำน้ำที่ชื้นแฉะภายในระยะเวลา 7 วัน ให้สงสัยเป็นโรคนี้ ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง

4. ลดการระบาด โดยให้ผู้นำชุมชน อสม. เมื่อมีผู้ป่วยสงสัยจะเป็นโรคไข้ฉี่หนูแม้เพียงรายเดียว รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าสอบสวนและควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาด หากประชาชนต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถโทร.สอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

กำลังโหลดความคิดเห็น