กรมควบคุมโรค ยันไทยไม่มีการระบาดโรคไข้ซิกา เตือนหญิงตั้งครรภ์กลุ่มเสี่ยงหลายโรค ต้องระมัดระวังมากกว่าปกติ
นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ยังไม่เคยมีรายงานการระบาดของโรคไข้ซิกาในประเทศไทย โดยในปี 2555 - 2558 มีรายงานผู้ป่วย 2 - 5 ราย ซึ่งสะท้อนถึงมาตรการเฝ้าระวัง การวินิจฉัยโรค ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก โรคนี้ส่วนใหญ่ป่วยแล้วหายได้เอง ไม่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต มีปัญหาเฉพาะกับหญิงตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกยังไม่ยืนยันเรื่องนี้ แต่มีหลักฐานบางอย่างบ่งชี้ว่าอาจสัมพันธ์กับอาการสมองเล็กในทารกแรกเกิด ทั้งนี้ โดยทั่วไปหญิงตั้งครรภ์หากติดเชื้อต่าง ๆ เช่น หัดเยอรมัน และไข้ขี้แมว เป็นต้น ก็อาจส่งผลถึงลูกในครรภ์ได้ ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์ต้องระมัดระวังมากกว่าคนปกติ ในด้านสุขอนามัย ไม่คลุกคลีคนป่วย ไม่คลุกคลีสุนัข และแมวจรจัด ป้องกันไม่ให้ยุงกัด และฝากครรภ์ตามกำหนด
“แม้โรคไข้ซิกาจะมียุงพาหะ คือ ยุงลายบ้าน เช่นเดียวกับไข้เลือดออก แต่โอกาสที่จะเกิดการระบาดของไข้ซิกานั้นมีน้อย เนื่องจากประเทศไทยไม่มีแหล่งรังโรคของไวรัสซิกา โดยโรคนี้มีระยะฟักตัวเฉลี่ย 4-7 วัน สั้นสุด 3 วัน และยาว 12 วัน อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ ข้อบวม ปวดหลัง อาจมีอาการอื่น ๆ ได้ เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต และอุจจาระร่วง ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง อาการเหล่านี้ทุเลาลงภายในเวลา 2-7 วัน หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที” อธิบดี คร. กล่าว
นพ.อำนวย กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่เคยมีรายงานการติดเชื้อไวรัสซิกาในหญิงตั้งครรภ์จนทำให้เด็กเกิดความพิการดังกล่าว แต่ได้ออกประกาศเรื่องโรคไข้ซิกา เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2559 เพื่อเน้นย้ำให้หญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงเดินทางไปประเทศมีการระบาด หรือควรปรึกษาแพทย์ก่อนการเดินทาง รวมทั้งแนะนำวิธีป้องกันโรคไข้ซิกาที่ดีที่สุด คือ ป้องกันไม่ให้ยุงกัด กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั้งในและนอกบ้าน หากจำเป็นต้องเดินทางไปพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคต้องระมัดระวังป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ทายาป้องกันยุง
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่