xs
xsm
sm
md
lg

เด็กโต-ผู้ใหญ่ ป่วยไข้เลือดออกมาก ชี้ยิ่งอ้วน-มีโรคประจำตัวยิ่งเสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ.เผยกลุ่มเด็กโต-ผู้ใหญ่ ป่วยไข้เลือดออกมาก ชี้ ยิ่งอ้วน - มีโรคประจำตัวยิ่งเสี่ยงสูง ระบุ หากมีไข้สูงลอย ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ซึม รีบไปพบแพทย์

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกยังเป็นโรคที่ต้องระวังต่อเนื่องจนถึงช่วงปลายฝนต้นหนาว โรคนี้พบได้กับประชาชนทุกเพศทุกวัย ไม่เฉพาะในเด็ก ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 28 ก.ย. 2558 พบผู้ป่วยทั่วประเทศ 80,951 ราย เสียชีวิต 82 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 15 - 24 ปี ร้อยละ 28 รองลงมาคือ อายุ 10 - 14 ปี และอายุ 25 - 34 ปี ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นนักเรียน ร้อยละ 45 จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ระยอง เพชรบุรี ราชบุรี ตราด และอุทัยธานี

นพ.โสภณ กล่าวว่า กลุ่มเสี่ยงสำคัญที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ ผู้ที่มีน้ำหนักมาก ผู้ที่มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด หากป่วยจะทำให้การรักษายุ่งยากมากขึ้น เพราะต้องรักษาอาการที่เกิดจากโรคไข้เลือดออกและโรคประจำตัวด้วย ดังนั้น หากมีไข้สูงลอย ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ซึม ให้สงสัยว่าป่วยโรคไข้เลือดออกต้องรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษา อย่าซื้อยากินเอง โดยเฉพาะยาแก้ปวดลดไข้อย่างแรง เช่น ยาไอบูโพรเฟน ซึ่งระคายเคืองกระเพาะอาหาร เสี่ยงเลือดออกในกระเพาะอาหาร อันตรายถึงเสียชีวิต

“วิธีป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ดีที่สุด คือ 1. ระวังอย่าให้มียุง เริ่มต้นที่บ้านของตนเอง โดยทำบ้านไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ปิดภาชนะใส่น้ำ เปลี่ยนน้ำในแจกัน จานรองกระถางต้นไม้ ปล่อยปลากินลูกน้ำในอ่างบัว ทำเป็นประจำทุกสัปดาห์ เป็นวิธีที่ดีและยั่งยืนที่สุด เพราะยุงลายใช้เวลาวางไข่เป็นลูกน้ำแล้วเป็นยุง ใช้เวลาเพียง 5 - 7 วันเท่านั้น 2. ระวังอย่าให้ยุงกัด โดยเฉพาะยุงลายชอบกัดเวลากลางวันและเป็นยุงที่มักอาศัยอยู่ในบ้าน โดยเฉพาะผู้ป่วยต้องนอนในมุ้งหรือทายากันยุงทั้งขณะอยู่พักฟื้นที่บ้านหรือรักษาตัวที่โรงพยาบาล ป้องกันไม่ให้ยุงกัดแล้วไปแพร่เชื้อให้คนอื่น” ปลัด สธ. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น