ศูนย์ข่าวศรีราชา - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และคณะ ลงพื้นที่เมืองพัทยา นำร่องประชาสัมพันธ์ พ.ร.บ.ควบคุมขอทานในเมืองท่องเที่ยวภายใต้คอนเซ็ปต์ “พัทยาสดใส ร่วมใจหยุดขอทาน”
ตามที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้จัดการประชุมเตรียมความพร้อมในการลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ พ.ร.บ.ควบคุมขอทาน พ.ศ.2559 ภายใต้คอนเซ็ปต์ “พัทยาสดใส ร่วมใจหยุดขอทาน” ตามกระแส “ให้ทานถูกวิธี ลดวิถีการขอทาน” โดยนำร่องเมืองพัทยาเป็นที่แรกของประเทศ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุด เมื่อเวลา 21.00 น. วันนี้ (14 มิ.ย.) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และคณะ ได้ลงพื้นที่โครงการถนนคนเดิน หรือวอล์กกิ้งสตรีท พัทยาใต้ แหล่งธุรกิจสำคัญของเมืองพัทยาที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาตินิยมมาใช้บริการ เพื่อเดินรณรงค์พร้อมแจกสื่อประชาสัมพันธ์ และมอบ พ.ร.บ.ควบคุมขอทาน พ.ศ.2559 แก่ นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ก่อนจะลงนามความร่วมมือร่วมกันตามลำดับ
หลังเสร็จพิธีการ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ว่า กิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นการนำร่องเพื่อลดปัญหาขบวนการค้ามนุษย์ที่มีอยู่ในประเทศไทยให้ลดน้อยลง ซึ่งกลุ่มขอทานเร่ร่อนถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทางรัฐบาลพยายามหาแนวทางแก้ไขมาโดยตลอด
โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ ทั่วประเทศ ควรมีการสอดส่อง ดูแล และให้ความสำคัญเรื่องนี้เพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันให้ลดน้อยลงมากที่สุด จึงจำเป็นต้องมีการบูรณาการทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือในการจัดการ และแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมตามลำดับ เพื่อให้กลุ่มขบวนการค้ามนุษย์ในประเทศได้หมดสิ้นไปในที่สุด
โดยในส่วนของ พ.ร.บ.ควบ คุมการขอทาน พ.ศ.2559 นี้ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 ซึ่งมีสาระสำคัญคือ การแยกผู้แสดงความสามารถออกจากผู้ทำการขอทานโดยให้มีการแจ้งต่อพนักงานท้องถิ่นตามกำหนด มุ่งเน้นการคุ้มครอง และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ทำการขอทานไม่ให้กลับมากระทำการขอทานอีก รวมทั้งการกำหนดความผิดทางอาญาแก่ผู้แสวงหาผลประโยชน์จากการขอทานที่มีโทษจำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และหากกระทำต่อหญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ คนวิกลจริต คนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือเจ็บ ป่วย ก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเป็นการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรูปแบบของคณะกรรมการควบคุมการขอทาน ซึ่งจะทำให้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาให้ได้ผลสำเร็จที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น