เชียงราย - กรรมาธิการการศึกษาฯ ยกคณะดูที่เกิดเหตุไฟไหม้หอพักนอนจนเด็กนักเรียนหญิงโรงเรียนฯ ในมูลนิธิพันธกิจสุขสันต์เสียชีวิต 17 ราย เล็งเสนอออกกฎกระทรวงบังคับซ้อมแผนเผชิญเหตุทุกโรงเรียนที่มีหอฯ ขณะที่ผู้ปกครองเด็ก ป.4 เหยื่อไฟไหม้ที่ยังไม่รู้สึกตัวเสียใจไม่คลาย ร่ำไห้จนหายใจไม่ออกต้องนำส่งโรงพยาบาลกลางคัน
วันนี้ (14 มิ.ย.) นายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้นำคณะเดินทางเข้าตรวจเยี่ยมโรงเรียนพิทักษ์เกียรติวิทยาภายในมูลนิธิพันธกิจสุขสันต์ (องค์กรสาธารณประโยชน์) เลขที่ 9 ม.11 ต.เวียง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ที่เกิดเหตุไฟไหม้หอพักนอน จนทำให้เด็กหญิงชั้นอนุบาล-ป.6 เสียชีวิต 17 ราย และบาดเจ็บ 5 คน
คณะได้นำสิ่งของที่มีผู้ร่วมบริจาคไปมอบแก่ผู้ปกครองเด็กที่เสียชีวิต และบาดเจ็บแต่ละราย โดยมีนายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ นายอำเภอเวียงป่าเป้า, พ.ต.อ.ประหยัด สิงสิน ผกก.สภ.เวียงป่าเป้า, นางพิมพ์ วาสนา ผู้อำนวยการโรงเรียนฯ ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมญาติของเด็กที่เสียชีวิต และบาดเจ็บบางส่วนเดินทางไปร่วมด้วย
พร้อมกันนี้ คณะนายตวงได้สอบถามข้อมูลต่างๆ จากทางโรงเรียนฯ หลายประเด็น โดยเฉพาะข้อสงสัยในการดูแลความปลอดภัยและเหตุการณ์ในคืนเกิดเหตุ เพื่อจะได้นำไปปรับปรุงด้านกฎหมายตามหน้าที่ของกรรมาธิการฯ
พบว่าสิ่งที่ควรนำไปปรับปรุงคือ กรณีที่ทางโรงเรียนฯ ไม่เคยมีกิจกรรมซักซ้อม หรือซ้อมแผนในบ้านพักเพื่อรองรับกรณีอาจเกิดเหตุขึ้นมาก่อนเลย รวมทั้งในบ้านพักมีผู้ดูแลเป็นครูผู้หญิงอยู่แค่ 1 คน แต่ต้องดูแลเด็กจำนวน 36 คน ทางคณะกรรมาธิการฯ ระบุว่า สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยไม่เคยมีการซ้อมแผนกันมาก่อนเลย
นายตวงกล่าวว่า กรรมาธิการฯ ทั้งหมดได้ประชุมกันแล้ว และมีความเห็นชอบไปในทิศทางเดียวกันว่าสมควรให้มีการบังคับใช้กฎหมาย หรือกฎกระทรวง เพื่อให้นำไปบังคับใช้กับสถานศึกษาหรือองค์กรต่างๆ ที่รับผิดชอบในหอพักเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก เพื่อให้มีการซ้อมแผนเผชิญเหตุอย่างน้อยภาคเรียนละ 1 ครั้ง
ทั้งนี้ เพราะที่ผ่านมามีกฎหมายด้านการดูแลความปลอดภัยจริง แต่ยังไม่ครอบคลุมไปถึงบ้านพักหรือหอพักของเด็กนักเรียน ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุขึ้นจริงแล้วทำให้เด็กที่ประสบเหตุไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร และยังกลับห้องแล้วปิดห้องขังตัวเองเอาไว้จนเกิดเหตุน่าเศร้าดังกล่าว
แต่หากมีการซักซ้อม เด็กก็จะคุ้นเคย และรู้ทางหนีทีไล่ เส้นทางวิ่ง ช่องทางเดิน เพื่อออกจากเหตุวิกฤตไปจนถึงการเตรียมตัวด้านต่างๆ ซึ่งในหน่วยงานอื่นมีการซักซ้อมกันเป็นประจำ แต่กรณีของสถานศึกษากลับไม่มีเลย แตกต่างจากในต่างประเทศที่มีแผนซักซ้อมกันเป็นประจำ
ดังนั้น ขั้นตอนต่อไปคือ หลังจากให้เจ้าหน้าที่ไปศึกษาเรื่องข้อกฎหมายต่างๆ อย่างละเอียดแล้ว จะได้นำเสนอข้อมูล และข้อเสนอไปยัง สนช.และรัฐบาล เพื่อพิจารณาออกเป็นกฎหมาย โดยกรณีของรัฐบาลสามารถออกเป็นกฎกระทรวงเพื่อบังคับใช้ได้เลย
จากนั้นคณะได้มอบเงินและสิ่งของช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บ ซึ่งเดินทางมารับมอบ จำนวน 5 ราย ซึ่งผู้ปกครองของ ด.ญ.รดา อาเซาะ นักเรียนชั้น ป.4 ซึ่งยังไม่รู้สึกตัวเพราะสูดดมควันไฟเข้าไปมาก ยังคงเสียใจกับเหตุการณ์ และเมื่อลูกสาวของตัวเองยังไม่ได้สติดังกล่าวทำให้ร้องไห้ฟูมฟายอย่างน่าเวทนาจนหายใจขัด ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องปลอบประโลมและพาไปพักที่โรงพยาบาลเวียงป่าเป้ากะทันหัน
ขณะที่ผู้ปกครองเด็กนักเรียนบางส่วนยังติดงานทำบุญให้กับลูกหลานที่ล่วงลับ จึงไม่ได้มาร่วมงานดังกล่าว