xs
xsm
sm
md
lg

‘ทหาร-ปราชญ์ท้องถิ่น’ เดินเท้าลุยดูระบบชลประทานโซกพระร่วงฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สุโขทัย - เสนาธิการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองบัญชาการช่วยรบที่ 3 พร้อมคณะปราชญ์ท้องถิ่น เดินเท้าศึกษาระบบชลประทานโบราณโซกพระร่วงฯ หวังประยุกต์ใช้กับแผนแก้ภัยแล้ง-น้ำท่วมสุโขทัยแบบยั่งยืน

วันนี้ (7 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.อ.สุชาติ พุ่มสุวรรณ เสนาธิการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองบัญชาการช่วยรบที่ 3 พร้อมด้วยคณะปราชญ์ท้องถิ่นสุโขทัย ได้ร่วมกันเดินเท้าเข้าศึกษาระบบชลประทานโบราณ และแหล่งต้นน้ำลำธารเมืองสุโขทัย

เพื่อบันทึกข้อมูลเตรียมประยุกต์ใช้วางแผนแก้ปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วมแบบยั่งยืน พร้อมกันนี้ยังได้ร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำรักษาความชุ่มชื้นให้ผืนป่าด้วย

โดยใช้เส้นทางเดินไปตามลำคลองเสาหอ สลับป่าดิบแล้งในเขตอุทยานแห่งชาติรามคำแหง ซึ่งเป็นที่ราบเชิงเขาสลับกับการเดินในลำธาร ระยะทาง 1 กิโลเมตร จนถึงยังโซกพระร่วงลองพระขรรค์แหล่งต้นน้ำโบราณ

ซึ่งในอดีตบริเวณป่าเขาหลวงแห่งนี้เคยมีสภาพอุดมสมบูรณ์ เป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์ใหญ่ ทั้งช้าง กระทิง วัวแดง และเสือ รวมทั้งยังเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารสำคัญของเมืองสุโขทัยโบราณ มีระบบการกักเก็บน้ำจากลำคลองเสาหอไว้ โดยการสร้าง “สรีดภงส์” หรือทำนบพระร่วง มีการส่งน้ำผ่านคูคลอง และท่อส่งน้ำสังคโลก ถ้ามีน้ำจำนวนมากเกินความต้องการก็จะมีการเบี่ยงทางน้ำไปตามคันดินรูปตัวแอล ตัวยู เพื่อให้น้ำไหลบ่าไปหล่อเลี้ยงทุ่งนา และรักษาระดับน้ำใต้ดินไว้ ที่คนในสมัยโบราณนิยมใช้น้ำดื่มจากบ่อบาดาลแบบตื้น

ต่อมาในปี พ.ศ. 2498 ได้มีการนำผืนป่าเขาหลวงออกให้สัมปทาน โดยแบ่งเป็น 3 แปลง คือ ป่าเมืองเก่า ป่าหนองตูม และป่าหนองเฒ่า ทำให้ผืนป่าในปัจจุบันจึงไม่มีต้นไม้ขนาดใหญ่หลงเหลืออยู่ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของความแห้งแล้งในปัจจุบัน







กำลังโหลดความคิดเห็น