น่าน - อธิบดีกรมป่าไม้นำทีมเจ้าหน้าที่เดินหน้าทวงคืนผืนป่าเมืองน่านต่อเนื่อง หลังตรวจสอบ “ป่าน้ำสาฝั่งขวาตอนขุน บ้านนาก้า-ฮากฮาน” ถูกรุกใหม่แบ่งแปลงรวมกว่าพันไร่ พร้อมเตรียมปรับโครงสร้างกรมป่าไม้ ผลิต “เสนารักษ์ พิทักษ์ป่า” เข้าประจำทุกหน่วย-ใช้เทคโนโลยีใหม่ตรวจป่าเรียลไทม์
วันนี้ (6 มิ.ย.) นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมด้วยนายอรรถพล เจริญชันษา ผอ.สำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า, นายชัยรัตน์ แสงปาน ผอ.ส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า ป่าไม้ที่ 3 สาขาแพร่ และนายนิวัฒน์ งามธุระ นายอำเภอเวียงสา จ.น่าน ได้นำกำลังพลหน่วยทหาร และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เข้าตรวจสอบพื้นที่ป่าน้ำสาฝั่งขวาตอนขุน บ้านนาก้า หมู่ที่ 1 และบ้านฮากฮาน หมู่ที่ 2 ต.ยาบหัวนา อ.เวียงสา จ.น่าน หลังจากตรวจสอบและเปรียบเทียบภาพถ่ายดาวเทียมปี 2557-2558 พบว่ามีการบุกรุกป่าใหม่เป็นบริเวณกว้าง โดยมีการแบ่งเป็นแปลงย่อย รวม 53 แปลง เนื้อที่รวม 1,334 ไร่
นายอรรถพลเปิดเผยว่า จากการเข้าตรวจสอบพื้นที่ซึ่งปรากฏชัดเจนว่าเป็นการบุกรุกป่าใหม่ มีลักษณะการใช้สารเคมี และยาฆ่าหญ้าในการทำเกษตร มีร่องรอยการใช้รถไถเข้าบุกเบิก ต้องบังคับใช้มาตรการทางกฎหมาย เพราะเป็นการบุกรุกป่าหลังปี 2557 ตามคำสั่ง คสช.ที่ 64 และ 66 โดยจะทำการตรวจยึดผืนป่าทั้งหมด และหลังจากนี้จะมีการติดประกาศการตรวจยึดพื้นที่และอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งหลังจากติดประกาศแล้ว หากพบว่ามีบุคคลใดเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่ตรวจยึดจะต้องถูกดำเนินคดีทันที
ด้านนายชลธิศกล่าวว่า ขอให้ประชาชนเข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องใช้มาตรการทางกฎหมาย กับผืนป่าที่ถูกบุกรุกหลังปี 2557 และลักษณะที่เป็นนายทุน เพื่อหยุดยั้งการบุกรุกป่า ซึ่งพื้นที่ตรวจยึดมาได้จะนำมาฟื้นฟูให้เป็นป่าและพื้นที่สีเขียว ให้เป็นป่าที่ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับป่า และใช้ประโยชน์จากป่าได้อย่างมีสมดุล
สำหรับการรักษาป่าต้นน้ำน่าน เป็นเรื่องของจิตสำนึกที่เห็นคุณค่าของผืนป่า คนน่าน จะเป็นส่วนสำคัญในการฟื้นฟู และดูแลรักษาป่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ได้ ขณะที่ทางกรมป่าไม้ ก็ยังคงต้องเดินหน้าปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายกับนายทุน และการบุกรุกป่าใหม่ เพื่อนำผืนป่ากลับคืนมาให้ได้ซึ่งขณะนี้ทางกรมป่าไม้มีแนวทางในการป้องกันรักษาป่าและการส่งเสริมฟื้นฟูป่า ในลักษณะ “คนอยู่ได้ ป่าไม่หาย และได้ป่าคืน” โดยใช้กฎหมายเพื่อทวงคืนผืนป่าจากนายทุน และใช้ภาคเกษตรแบบวนเกษตร เพื่อให้คนมีรายได้จากป่าโดยไม่ต้องทำลายป่า และการหารือร่วมกับทางฝ่ายปกครอง และกรมวิชาการเกษตร เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาเกษตรกร ได้อย่างเป็นภาพรวมมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังเตรียมปรับโครงสร้างกรมป่าไม้ เพื่อให้ทำงานได้คล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องบุคลากรชุดปฏิบัติการ โดยเตรียมผลิต “เสนารักษ์ พิทักษ์ป่า” ซึ่งจะผ่านการคัดกรองและฝึกอบรม เพื่อเข้าประจำการทำงานด้านป่าไม้ทุกหน่วย ทั้งมิติการป้องกันและปราบปราม และการส่งเสริมฟื้นฟู และเตรียมใช้เทคโนโลยี จัดทำระบบการติดตามผืนป่าแบบ Real Time ผ่านสมาร์ทโฟน เพื่อสามารถตรวจสอบพื้นที่ป่าได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะสนับสนุนให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น