ศูนย์ข่าวศรีราชา- การท่าเรือแห่งประเทศไทย จัดเสวนาผู้มีส่วนได้เสียของการท่าเรือแห่งประเทศไทย พื้นที่แหลมฉบัง จ.ชลบุรี เพื่อจัดทำแผนแม่บทด้านความยั่งยืน
วันนี้ (6 มิ.ย.) นางสิริมา กีรตยาคม ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานสนับสนุนท่าเรือแหลมฉบัง เป็นประธานการเปิดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นการจัดทำแผนการส่งเสริมยุทธศาสตร์ด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความรับผิดชอบต่อสังคม เนื่องจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้จัดทำโครงการจัดทำแผนแม่บทด้านความยั่งยืนของการท่าเรือแห่งประเทศไทย
สำหรับในส่วนของท่าเรือแหลมฉบัง ได้จัดทำแผนการส่งเสริมยุทธศาสตร์ด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี และความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งจัดทำแผนแม่บท และแผนปฏิบัติการ ประจำปี 2560-2565 ซึ่งในกระบวนการการจัดทำแผนดังกล่าว ท่าเรือแหลมฉบัง ต้องนำข้อมูลประเด็นความคิดเห็น ความคาดหวัง และความกังวลใจจากผู้มีส่วนได้เสียจากการดำเนินงานของท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อสร้างความยั่งยืนสู่สังคมต่อไป
ด้าน นางกุลชุดา ดิษยบุตร วิทยากรที่ปรึกษาโครงการจัดทำแผนแม่บทด้านความยั่งยืน กล่าวว่า การจัดเสวนาครั้งนี้เพื่อพบปะ และรับฟังความคิดเห็น ความคาดหวัง และความกังวลของผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ทำความเข้าใจต่อผู้มีส่วนได้เสีย ผ่านกระบวนการสานเสวนา และเพื่อรวบรวมประเด็นสาระสำคัญจากผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญ และใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และรายงานความยั่งยืนของการท่าเรือแห่งประเทศไทยต่อไป
โดยข้อมูลที่ได้จากการเสวนาดังกล่าวจะนำไปจัดทำแผนแม่บทด้านความยั่งยืนของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) พ.ศ.2560-2564 แผนที่กลยุทธ์ด้านความยั่งยืนที่สอดคล้องต่อแผนกลยุทธ์ของ กทท. และแผนประจำปี ซึ่งประกอบด้วย แผนงาน/โครงการ กิจกรรมที่มีความสำคัญตามยุทธศาสตร์หลักของแผนแม่บทด้านความยั่งยืน เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนขององค์กร
นอกจากนั้น เพื่อให้คำแนะนำในการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาแผนแม่บทด้านความยั่งยืนของ กทท.ที่สอดคล้องต่อระบบการประเมินคุณภาพรัฐวิสาหกิจ และมาตรฐาน ISO 26000 เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานในการท่าเรือแห่งประเทศไทย ให้ดำเนินงานตามกรอบแนวทางด้านความยั่งยืนที่กำหนดไว้ และส่งเสริมให้พนักงานตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินกิจกรรม และปลุกจิตสำนึกให้พนักงานมีส่วนร่วมในกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ให้เป็นที่ยอมรับของสังคมในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
สำหรับรูปแบบที่หลายๆ ฝ่ายเสนอในครั้งนี้ ประกอบด้วย การเวนคืนที่ดินของชาวบ้านไปแล้วมีการดูแลช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกเวนคืนไปแล้วอย่างไรบ้าง หลังมีการก่อสร้างท่าเรือแล้วมีความเจริญเกิดขึ้น แต่ปัญหาด้านโครงการพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา โดยประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาด้านต่างๆ ดังกล่าว การท่าเรือแห่งประเทศไทย จะมีการวางแนวทางเรื่องนี้อย่างไรให้มีการบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ช่วยส่งเสริมสนับสนุนด้านอาชีพ การศึกษาแก่ประชาชนให้พื้นที่หลังเสียสละถูกเวนคืนที่ดิน ฯลฯ
นางกุลชุดา กล่าวว่า ปัญหาต่างๆ จะนำไปร่วมรวบกับการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียที่จัดไปแล้วที่กรุงเทพฯ จ.ระนอง และกำลังจะจัดขึ้นอีกครั้งที่เชียงแสน และเชียงของ ในวันที่ 13 มิถุนายน 2559 เพื่อจัดทำเป็นแผนแม่บท เรียงลำดับความสำคัญเสนอบอร์ดผู้บริหารการท่าเรือแห่งประเทศไทย ต่อไป