xs
xsm
sm
md
lg

ไร้ทางเลือกแรงงานจำยอม “รง.ชุดชั้นใน” บุรีรัมย์จ่ายชดเชยลอยแพแค่ 23%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บุรีรัมย์ - โรงงานตัดเย็บชุดชั้นในบุรีรัมย์ ยอมจ่ายเงินชดเชย และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ 82 แรงงานที่ถูกลอยแพแล้ว แต่จ่ายเพียง 23% ของจำนวนเงินที่แรงงานควรได้รับตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ท่ามกลางความไม่พอใจของแรงงาน หลังประกาศปิดกิจการกะทันหันไม่แจ้งล่วงหน้า แต่ไม่มีทางเลือกจำยอมต้องรับ พร้อมลงชื่อถอนคำร้อง และจะไม่ฟ้องร้องนายจ้าง

วันนี้ (4 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ประกอบการโรงงานตัดเย็บชุดชั้นใน “บริษัทอินโนวาโมด จำกัด” อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ พร้อมคณะผู้บริหารได้เข้าเจรจาไกล่เกลี่ยกับแรงงานที่ถูกลอยแพเลิกจ้างอย่างกะทันหันโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทำให้แรงงานประสบปัญหาเดือดร้อนตกงานมานานร่วมเดือน

โดยการเข้าเจรจาไกล่เกลี่ยครั้งนี้ เป็นไปตามคำสั่งของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ การเจรจาไกล่เกลี่ยทางบริษัทยอมที่จะจ่ายเงินชดเชยทั้งเงินค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่แรงงานได้เพียง 23% ตามอายุการทำงานของแต่ละคน ซึ่งไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานที่นายจ้างจะต้องจ่ายเงินชดเชย และเงินแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ให้แก่แรงงานตั้งแต่รายละ 10,000 บาท ไปจนถึงรายละกว่า 80,000 บาท รวมแล้วเป็นเงินที่นายจ้างจะต้องจ่ายทั้งสิ้นร่วม 7 ล้านบาท

ทำให้แรงงานส่วนมากไม่พอใจต่อข้อเสนอของนายจ้าง แม้ทางบริษัทจะชี้แจงว่า ที่ผ่านมาทางโรงงานได้ประสบปัญหาด้านการตลาด และขาดสภาพคล่องทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ทำให้ต้องปิดกิจการอย่างกะทันหัน

ส่วนเงินที่นำมาจ่ายชดเชยให้แก่แรงงานนั้นทางบริษัทอ้างว่า เป็นเงินที่ได้จากการขายเครื่องจักร และวัสดุอุปกรณ์ในโรงงานเป็นเงินกว่า 1 ล้าน 6 แสนบาท นำมาเฉลี่ยจ่ายให้แก่แรงงานได้คนละ 23% ของจำนวนเงินตามระยะเวลาการทำงานของแรงงงานแต่ละคนที่ควรจะได้รับ ทำให้แรงงานทั้ง 82 คนไม่พอใจต่อการจ่ายเงินชดเชยของบริษัท แต่ไม่มีทางเลือกจำยอมต้องรับเงินจำนวนดังกล่าวตามที่นายจ้างเสนอ พร้อมลงชื่อถอนคำร้องยินยอมรับเงินจำนวนที่ต่ำกว่าความเป็นจริง และจะไม่ร้องทุกข์กล่าวโทษฟ้องร้องนายจ้างในกรณีดังกล่าวด้วย

น.ส.รัตนาพร เนาวนัตน์ หนึ่งในแรงงานที่ถูกลอยแพยอมรับว่า เสียใจ และจำยอมต้องรับเงินชดเชย จำนวน 14,000 บาท ตามเพื่อนๆ แรงงานคนอื่น จริงแล้วตนจะได้เงินชดเชยต่อการถูกเลิกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานในครั้งนี้กว่า 50,000 บาท เพราะแรงงานแต่ละคนต่างเกรงว่า หากมีการแจ้งความฟ้องร้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว จะทำให้ล่าช้าสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย และไม่รู้ว่าจะได้รับเงินชดเชยดังกล่าวหรือไม่

ส่วนเงินที่ได้รับ 14,000 บาท ไม่เพียงพอที่จะนำไปลงทุนในการประกอบอาชีพอื่นได้ จึงขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือหาตำแหน่งงานว่างให้แก่แรงงานที่ถูกเลิกจ้างกลุ่มดังกล่าวได้มีงาน มีรายได้เลี้ยงครอบครัวด้วย

ด้าน นายประภาส ศิลปรัศมี สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ทางสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้เข้ามาดูแลแรงงานที่ถูกลอบแพเดือดร้อนอย่างใกล้ชิด และได้ออกคำสั่งให้นายจ้างเข้าดำเนินการจ่ายเงินให้แก่แรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานกำหนดเต็มตามจำนวน

ส่วนนายจ้าง และลูกจ้างจะมีการเจรจาไกล่เกลี่ยยินยอมกันนั้นขึ้นอยู่กับทั้ง 2 ฝ่ายว่าจะมีการเจรจาตกลงกันได้หรือไม่ หรือแรงงานรายใดไม่ประสงค์จะรับเงินชดเชยตามที่นายจ้างเสนอ ทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพร้อมที่ดำเนินการต่อนายจ้างตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อเรียกร้องให้แรงงานได้รับสิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานกำหนดทุกขั้นตอนต่อไป





กำลังโหลดความคิดเห็น