xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานตัดเย็บบุรีรัมย์ร้อง! นายจ้างประกาศย้าย รง.ด่วน หวังลอยแพเลี่ยงจ่ายชดเชย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แรงงานโรงงานตัดเย็บ อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ บุกร้องสนง.สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจ.บุรีรัมย์ ช่วยเหลือ หวั่นถูกลอยแพไม่ได้เงินชดเชยตามสิทธิ หลังบริษัทประกาศย้ายกิจการกะทันหัน วันนี้ ( 25 ส.ค.)
บุรีรัมย์ - แรงงานโรงงานตัดเย็บ อ.พุทไธสง บุรีรัมย์ ร่วม 100 คน บุกร้องสวัสดิการฯช่วยเหลือ หวั่นถูกลอยแพไม่ได้เงินชดเชยตามสิทธิ หลังบริษัทประกาศจะย้ายกิจการไปกรุงเทพฯ 1 ต.ค. กะทันหันเชื่อเป็นการกดดันแรงงานทางอ้อมเลี่ยง กม.ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย ด้านสวัสดิการฯ เร่งบูรณการหน่วยงานในสังกัดเร่งหาแนวทางช่วยเหลือ

วันนี้ (25 ส.ค.) ตัวแทนแรงงานโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า บริษัท ฟาร์อีสท์ปั่นทออุตสาหกรรม จำกัด การ์เมนท์ 6 ตั้งอยู่เลขที่ 391 หมู่ที่ 1 บ.พุทไธสง ต.พุทไธสง อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ ร่วม 100 คน จากทั้งหมดกว่า 250 คนได้เดินทางเข้ามาร้องขอความช่วยเหลือที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ หลังจากทางบริษัทฯ ได้ติดประกาศจะย้ายสถานประกอบกิจการไปยังกรุงเทพมหานครแบบกะทันหันในวันที่ 1 ต.ค.นี้ อยู่ห่างไกลจากภูมิลำเนาของแรงงานซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ รวมทั้งจะเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตด้วยจึงไม่สามารถย้ายตามไปทำงานกับทางบริษัทได้

อีกทั้งการติดประกาศย้ายสถานประกอบกิจการของทางบริษัทฯ ในครั้งนี้ไม่ได้มีมาตรการรองรับดูแลหรือเยียวยาแรงงานแต่อย่างใด ทำให้แรงงานกลัวจะถูกลอยแพและไม่ได้เงินชดเชยตามสิทธิ เชื่อว่าการประกาศย้ายสถานประกอบกิจการในครั้งนี้เป็นการเลี่ยงกฎหมายหรือปัดความรับผิดชอบ เพราะหากประกาศเลิกจ้างทางบริษัทจะต้องจ่ายเงินค่าจ้างตามอายุงานให้แก่แรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน จึงเลี่ยงเป็นการประกาศย้ายสถานประกอบกิจการแทน

นางบุปผา แซ่ลิ้ม อายุ 48 ปี บอกว่า ทำงานกับบริษัท ฟาร์อีสท์ฯ มาตั้งแต่ปี 2547 ที่ผ่านมาได้ย้ายตามบริษัทมา 4 ครั้งแล้ว แต่ก็ย้ายอยู่ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ไม่ได้ออกต่างจังหวัด แต่ครั้งนี้ทางบริษัทประกาศจะย้ายไปไกลจากภูมิลำเนาทำให้ไม่สามารถย้ายตามไปได้เพราะจะเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตประจำวัน อีกทั้งมองว่าการประกาศย้ายสถานประกอบกิจการในครั้งนี้นายจ้างต้องการปัดความรับผิดชอบจะไม่ยอมจ่ายเงินชดเชยให้แก่แรงงานตามสิทธิ จึงได้มาร้องขอความช่วยเหลือ

เช่นเดียวกับนางประนอม กมลรัมย์ อายุ 43 ปี มองว่าการประกาศย้ายสถานประกอบกิจการเป็นการกดดันแรงงานทางอ้อม เพราะหากใครไม่สมัครใจตามไปทำงานถือว่ายอมหยุดทำงานเอง โดยที่นายจ้างไม่ต้องรับผิดชอบอะไร จึงอยากให้ทางบริษัทเห็นใจหากจะย้ายสถานประกอบการก็ขอให้จ่ายเงินชดเชยให้แก่แรงงานช่วงที่ว่างงานด้วยเพราะยังไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนจึงจะได้งานทำ

ด้านนายประภาส ศิลปรัศมี สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ในวันนี้ได้ประสานหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ทั้งแรงงานจังหวัด จัดหางาน ประกันสังคม และศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน มาร่วมชี้แจงถึงสิทธิให้แรงงานได้รับทราบ พร้อมหาแนวทางช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการย้ายสถานประกอบกิจการของทางนายจ้าง ให้ได้รับสิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ทั้งเรื่องสวัสดิการที่ควรจะได้รับ รวมถึงการจัดหาตำแหน่งงานว่างรองรับ การฝึกฝีมือให้แก่แรงงานตามความถนัด เป็นการบูรณาการให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้แรงงานอย่างเต็มที่



กำลังโหลดความคิดเห็น