xs
xsm
sm
md
lg

ภัยแล้งเป็นเหตุ! พิจิตรเลิกทำนาแล้ว 2 แสนไร่ หันปลูกอ้อย-มัน-กล้วยแทน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พิจิตร - ภัยแล้งติดต่อกัน 2 ปี ทำให้ถึงจุดเปลี่ยนชาวนาพิจิตรหันไปปลูกพืชอื่นทดแทน ทั้งมันสำปะหลัง อ้อย กล้วย และพืชอื่นที่สามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว เกษตรจังหวัดระบุพื้นที่ปลูกข้าวลดลงไปแล้วเกือบ 2 แสนไร่

นายสุรพล ทองเที่ยง เกษตรจังหวัดพิจิตร เปิดเผยว่า อดีตชาวนาพิจิตรเคยปลูกข้าวอายุสั้น 90 วัน ทำได้ปีละ 2 ครั้ง เพื่อเข้าสู่โครงการรับจำนำข้าว แต่ในเมื่อปีนี้ไม่มีโครงการรับจำนำข้าว ประกอบกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกมาส่งเสริมให้เน้นการปลูกข้าวคุณภาพที่ต้องลดต้นทุนอย่างน้อย 10% และต้องเพิ่มรายได้อย่างน้อย 15% โดยได้มีการจัดอบรมให้ความรู้เกษตรกร 3,000 คน ทำให้เกิดจุดเปลี่ยน ชาวนาจากที่เคยปลูกข้าวอะไรก็ได้จำนำได้เป็นพอใจ

หลังจากประสบปัญหาภัยแล้ง 2 ปีติดต่อกัน ทำให้ทุกวันนี้เกษตรกรลดพื้นที่การทำนาไปแล้วจากเดิมมีการทำนา 1.8 ล้านไร่ ตอนนี้ลดลงไปแล้วเกือบ 2 แสนไร่ โดยส่วนใหญ่หันไปปลูกอ้อย, มันสำปะหลัง และปลูกกล้วย รวมทั้งพืชผักต่างๆ แทนการปลูกข้าว เหตุเพราะภัยแล้ง

ในการทำนาปี 2559 ชาวนาพิจิตรส่วนใหญ่จะหันไปปลูกข้าวหอมมะลิ, ข้าวหอมจังหวัด ซึ่งเป็นข้าวดีมีคุณภาพ อายุ 120 วัน จึงทำให้ปีนี้ปริมาณข้าว 5% หรือข้าวเปลือกทั่วไปของ จ.พิจิตรจะมีปริมาณลดลง ส่วนพื้นที่นาหลังเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิชาวนาพิจิตรก็จะปลูกถั่วเขียว-ถั่วเขียวผิวดำ หรือถั่วแขก ที่นำไปใช้ทำวุ้นเส้นหรือส่วนผสมของแป้งโรตี ที่ขณะนี้มีใบสั่งซื้อมาเป็นจำนวนมากแต่ผลผลิตไม่พอขาย



กำลังโหลดความคิดเห็น