อุบลราชธานี - เกษตรกรไร่ข้าวโพดในอำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี พลิกวิกฤตเป็นโอกาส นำข้าวโพดใช้เลี้ยงสัตว์พันธุ์ทนแล้ง กินน้ำน้อยปลูกสร้างรายได้แทนการปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งไม่ได้ผลสร้างรายได้ให้ครอบครัวเกือบหนึ่งแสนบาทต่อรุ่น
สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งที่จังหวัดอุบลราชธานี เกษตรกรบ้านเสาเล้า หมู่ 2 ต.นาส่วง อ.เดชอุดม ซึ่งที่ดินใช้เพาะปลูกเป็นที่ดอน ไม่สามารถใช้ปลูกข้าวนาปรังเนื่องจากลำห้วยไม่มีน้ำเหลือพอให้ใช้รดผลผลิต จึงพลิกวิกฤตเป็นโอกาส นำข้าวโพดพันธุ์แปซิฟิก 339 และพันธุ์นครสวรรค์ ซึ่งมีคุณสมบัติทนความแห้งแล้งกินน้ำน้อยปลูกแทนการปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งหลายปีผ่านมาเสียหายจากขาดน้ำ ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เต็มที่
นายแสวง กะพัง อายุ 52 ปี เกษตรกรที่มีที่นากว่า 20 ไร่ ได้แบ่งพื้นที่ปลูกข้าวโพดใช้เลี้ยงสัตว์ประมาณ 10 ไร่ ที่เหลือปลูกพืชล้มลุกอายุสั้น เช่น แตงไทย แตงโม ถั่วเขียว ถั่วลิสง โดยใช้วิธีเจาะบ่อน้ำบาดาลลึกกว่า 40 เมตร นำน้ำมาใช้รดผลผลิตเฉลี่ย 7-10 วันต่อครั้ง ซึ่งปีนี้แล้งมากกว่าทุกปี แต่ยังพอมีน้ำใช้ไปได้ถึงเดือนเมษายน
โดยแตงไทย แตงโม ถั่วเขียว และถั่วสิสง ซึ่งเป็นพืชอายุสั้นเฉลี่ยประมาณ 60 วัน ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตไปขายหมดแล้ว
ส่วนข้าวโพดกำลังโต และจะเก็บเกี่ยวได้ในเดือนเมษายน โดยมีน้ำหนักเฉลี่ย 1,300 กิโลกรัมต่อไร่ และโรงงานผลิตอาหารสัตว์ให้ราคาประกันการรับซื้อไม่ต่ำกว่ากิโลกรัม 8 บาท โดยโรงงานมีความต้องการข้าวโพดใช้ทำอาหารเลี้ยงสัตว์ช่วงนี้กว่า 7 หมื่นตัน จะทำให้ตนมีรายได้จากการทำไร่ครั้งนี้ประมาณ 1 แสนบาท ซึ่งมีรายได้มากกว่าการปลูกข้าวนาปรังประมาณ 3 เท่าตัว