xs
xsm
sm
md
lg

ทำเงินปีละ 10 ล้าน! ชาวนาหว้ารับจ้างทำ “ตุ๊กแกอบแห้ง” ส่งออกเป็นยาโด๊ปชั้นเลิศ (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นครพนม - ชาวบ้านในอำเภอนาหว้า รับจ้างทำตุ๊กแกอบแห้งส่งโรงงาน ทำเงินหมุนเวียนในหมู่บ้านช่วงก่อนทำนาปีละร่วม 10 ล้านบาท เผยเป็น “ยาโด๊ป” ชั้นเลิศ นอกจากนี้ ยังทำเป็นเมนูเด็ดรสแซบชูกำลัง ทั้งส้มตุ๊กแก ผัดกะเพรา ผัดเผ็ด ทอดหมักใส่ซอส



ผู้สื่อข่าว จ.นครพนม รายงานว่า ก่อนฤดูทำนาชาวบ้านใน อ.นาหว้า โดยเฉพาะที่ บ.ตาล หมู่ 8 ต.นาหว้า กว่า 20 หลังคาเรือน จะพากันทำอาชีพเสริมจากการทำนาที่หลายคนเห็นแล้วอาจขนหัวลุก นั่นคือ การรับซื้อ และผลิตตุ๊กแกอบแห้ง โกยเงินเป็นล่ำเป็นสันมานานกว่า 20 ปี

โดยตุ๊กแกอบแห้งเหล่านี้ส่งขายให้โรงงานนายทุนที่รับซื้อจากชาวบ้านแบบไม่อั้น นำส่งต่างประเทศ เชื่อทำเป็นยาโด๊ปชูกำลัง ขณะที่ชาวบ้านบางรายยังนำตุ๊กแกไปทำเป็นเมนูเด็ดได้อีกด้วย

นางพรหมสมัย วงษาเนาว์ อายุ 43 ปี หนึ่งในชาวบ้านผู้ผลิตตุ๊กแกอบแห้ง กล่าวว่า จะมีนายทุนชาวไทยละแวกบ้านไปตระเวนรับซื้อตุ๊กแกสดๆ มาจากจังหวัดต่างๆ เช่น มุกดาหาร อุบลราชธานี นครราชสีมา และจังหวัดในภาคเหนือที่มีญาติพี่น้องอาศัยอยู่ ยกเว้นภาคกลาง และภาคใต้ ตกตัวละ 5-10 บาทแล้วแต่ขนาด อัดใส่ถังน้ำแข็งขนาดใหญ่ครั้งละ 500-1,000 ตัว ป้องกันตัวที่ตายเน่าเสีย ส่วนตัวเป็นๆ จะใส่กระสอบ

อาชีพนี้จะทำกันเป็นครอบครัวประมาณ 6-7 คน การผลิตมีมากถึง 15 ขั้นตอน ด้านอุปกรณ์การทำ เช่น กิ๊บเหล็กหนีบ ไม้ไผ่ ลวดเย็บกระดาษ กรรไกร เชือกฟาง นายทุนจะเตรียมจัดหามาให้

คุณยายกฤษณา เสนารักษ์ วัย 68 ปี กล่าวถึงขั้นตอนการผลิตว่า เริ่มจากใช้มีดคว้านไส้ และขี้ตุ๊กแกออกแล้วล้างด้วยน้ำให้สะอาด ใช้มีดกรีดผ่าท้องยาวจากต้นคอจนถึงสันหาง นำไม้ไผ่คล้ายไม้เสียบลูกชิ้นขึงแยกลำตัวคู่ขาหน้าหลัง ก่อนนำไม้ไผ่แบนๆ หน้ากว้าง 2 นิ้ว 2 แผ่น ขึงแผ่ลำตัวออกแล้วใช้กิ๊บเหล็กหนีบให้ตึง ก่อนนำลวดเย็บติดกับไม้ไผ่แบนๆ ส่วนหางก็นำเชือกฟางมัดขึงดึงตรง

หลังจากนั้น จะนำเข้าเตาอบถ่าน 3 เตา ที่ประกอบขึ้นเอง อบแห้งนาน 1 คืน นาน 12 ชั่วโมง หากตากแดดจะเน่า และอาจมีเชื้อรา ต่อจากนั้นนำออกมาลอกแกะเชือกฟางมัดส่วนหางออก ก่อนนำกาวลาเท็กซ์มาแปะทาติดยึดกับไม้ไผ่แบนอีกรอบ แล้วรวบรวมนำใส่สุ่มไก่ส่งขายให้บริษัทจากไต้หวันที่มาตั้งโรงานรับซื้อห่างจากหมู่บ้าน 500 เมตร

คุณยาย กล่าวต่อว่า การผลิตจะแบ่งหน้าที่รับผิดชอบคนละ 2-3 ขั้นตอน เพราะมีหลายขั้นตอนทำคนเดียวไม่ไหว แต่ละวันจะต้องตื่นตี 3 ร่วมกับญาติ และลูกหลานผลิตครั้งละ 500 ตัว ได้ค่าแรงตกตัวละ 3 บาท ใน 1 สัปดาห์จะทำ 4-5 ครั้ง ลูกหลานแบ่งให้ใช้ 500-700 บาทต่อ 1 สัปดาห์ มีรายได้ต่อคน 3,000-5,000 บาท/เดือน แล้วแต่ความขยันทำมากน้อย

“ตุ๊กแกยังนำมาประกอบอาหารได้ด้วย เช่น ส้มตุ๊กแก คล้ายแหนมซี่โครงหมูทอด ผัดกะเพรา ผัดเผ็ด ทอดหมักใส่ซอส เนื้อคล้ายเนื้อไก่มีสีขาวนวล หากนำไปทำต้มยำใส่ไก่ดำใส่เครื่องเทศเชื่อว่า คล้ายยาอายุวัฒนะ ขณะที่ไข่ตุ๊กแกสีขาวๆ ยังนำมาทำเป็นห่อหมกได้ด้วย” คุณยาย บอก

ด้านนายบุญเพ็ง วงษาเนาว์ ผู้ใหญ่บ้าน บ.ตาล หมู่ 8 กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ มีชาวบ้านรับจ้างทำตุ๊กแกอบแห้งในหมู่ 15 ถือเป็นรุ่นบุกเบิก แต่ทุกวันนี้จะทำกันมากในหมู่ 8 กว่า 70 ครัวเรือน ซึ่งหลังจากตุ๊กแกราคาตกนายทุนเริ่มหดหาย จึงเหลือผู้ผลิตร่วม 30 ราย เป็นอาชีพเสริมก่อนฤดูทำนาของชาวบ้าน จะเริ่มทำกันช่วงเดือน มี.ค.-มิ.ย.ของทุกปี

โดยจะมีบริษัทจากไต้หวันมาตั้งโกดังรับซื้อในหมู่บ้านตามขนาด 20-30 บาทต่อตัว เชื่อว่านำไปเป็นส่วนผสมยาโด๊ปชูกำลัง ที่ผ่านมา สามารถทำเงินให้ชาวบ้านแต่ละปีกว่า 10 ล้านบาท



กำลังโหลดความคิดเห็น