เลย - ชาวบ้านต้านเหมืองทอง ต.ทุ่งหลวง อ.วังสะพุงเฮ ศาลสั่งจำคุก 2 นายทหารพ่อ-ลูก 1 ปี กับ 12 เดือน-2 ปี 12 เดือนตามลำดับ กรณีพาชายฉกรรจ์ล้อมหมู่บ้านและสั่งการทำร้ายชาวบ้านเพื่อเปิดทางขนแร่ออกจากเหมือง พร้อมสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ให้จ่ายค่าเสียหายทดแทนแก่ชาวบ้านซึ่งเป็นโจทก์ทั้ง 9 ราย รวมทั้งหมด 165,600 บาท ภายใน 15 วัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (31 พ.ค.) ที่ศาลจังหวัดเลย กลุ่มคนรักบ้านเกิดกลุ่มต่อต้านเหมืองทองคำ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง กว่า 300 คน เดินทางมาฟังคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อ.5440/2557 พนักงานอัยการเป็นโจทก์ นายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ กับพวกรวม 9 คน เป็นโจทก์ร่วม ยื่นฟ้อง พ.ท.ปรมินทร์ ป้อมนาค (จำเลยที่ 1) และ พล.ท. ปรเมษฐ์ ป้อมนาค จำเลยที่ 2 ในความผิดอาญาข้อหาทำร้ายร่างกาย กักขัง หน่วงเหนี่ยว ร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จากเหตุการณ์พาชายฉกรรจ์ปิดล้อมชุมชนเพื่อเปิดทางขนแร่เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2557 และคดีหมายเลขดำที่ อ.2991/2558 หมายเลขแดง อ.3992/2559 ที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ฟ้องนายสมัย ภักดิ์มี ประธานสภา อบต.เขาหลวง และนาย กองลัย ภักดิ์มี ผู้ใหญ่บ้านนาหนองบง หมู่ที่ 3 เป็นจำเลย ในข้อหาเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เกี่ยวกับการก่อสร้างซุ้มประตูและติดป้าย “หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง” คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นตัดสินยกฟ้องเพราะคดีไม่มีมูล แต่ทางโจทก์อุทธรณ์
บรรยากาศบริเวณหน้าศาลเป็นไปอย่างเคร่งเครียด ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ชุดควบคุมฝูงชน จำนวน 1 กองร้อย
โดยคดีที่ 1 ขนแร่ด้วยอำนาจเถื่อน ศาลตัดสินจำคุก 2 ปี 12 เดือน แก่จำเลยที่ 1 พ.ท.ปรมินทร์ ป้อมนาค ผู้เป็นลูก (ยังรับราชการอยู่) และจำคุก 1 ปี 12 เดือน แก่จำเลยที่ 2 พล.ท.ปรเมษฐ์ ป้อมนาค ผู้เป็นพ่อ (นายทหารนอกราชการ) และให้จ่ายค่าเสียหายทดแทนแก่ชาวบ้านซึ่งเป็นโจทก์ทั้ง 9 ราย รวมทั้งหมด 165,600 บาท ภายใน 15 วัน
ส่วนคดีที่ 2 ฟ้องนายสมัย ภักดิ์มี ประธานสภา อบต.เขาหลวง และนายกองลัย ภักดิ์มี ผู้ใหญ่บ้านบ้านนาหนองบงหมู่ที่ 3 เป็นจำเลย ในข้อหาเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เกี่ยวกับการก่อสร้างซุ้มประตูและติดป้าย ‘หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง’ ศาลยกฟ้อง เห็นตามศาลชั้นต้น ในส่วนของจำเลยทั้งสองในคดีแรกคงจะขอประกันตัวเพื่อสู้คดีต่อในชั้นอุทธรณ์
ทั้งนี้ หลังศาลตัดสินลงโทษจำเลยทั้ง 2 แล้วนั้น ชาวบ้านต่างพอใจกันเป็นอย่างมาก บางคนถึงกับหลั่งน้ำตาออกมา
ด้าน น.ส.รัตนมณี คนกล้า หัวหน้าทีมทนายของกลุ่มคนรักบ้านเกิด เปิดเผยว่า คำพิพากษาของศาลจังหวัดเลย คดีแรก บ.ทุ่งคำ ฟ้องนายสมัย ภักมี กับนายกองไล ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กรณีที่มีการทำซุ้มประตูในหมู่บ้านที่มีคำว่า “ปิดเหมืองฟื้นฟู” ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง วันนี้ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็ยืนตามพิพากษาชั้นต้น เพราะถือว่าเรื่องของการทำซุ้มประตูนั้นมันไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ แต่เป็นสิทธิของแต่ละบุคคลรวมทั้งเรื่องชี้นำชาวบ้านไปชุมนุมต่างๆ ก็ถือว่าเป็นเรืองสิทธิส่วนบุคคล ศาลเห็นยกฟ้อง ซึ่งคดีนี้ไม่สามารถฎีกาได้แล้ว
สำหรับคดีที่สำคัญคือ คดีเหตุการณ์เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ศาลเห็นว่า ในคืนวันที่ 15พฤษภาคม ได้มีชายฉกรรจ์เข้ามาในหมู่บ้านประมาณ 150 คนมาจับตัวชาวบ้านเอาไว้ในจุดเกิดเหตุ 3 จุด ที่ชาวบ้านตั้งจุดเวรยามในหมู่บ้าน ในการที่กลุ่มชายฉกรรจ์เข้ามาจับกุมนั้น มีผู้เสียหาย 24 รายที่ได้ไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และศาลก็เห็นว่าจำเลยที่ 1 นั้นเนื่องจากมีพยานหลักฐานเป็นบุคคล 3 คนมีทั้งคนนอกและคนชาวบ้านได้ยืนยันว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้าไปในหมู่บ้านและเข้าไปร่วมกับชายฉกรรจ์ 150 คนไปจับตัวชาวบ้านแล้วทำร้ายร่างกาย
โดยการกระทำของกลุ่มคน 150 คนเข้าไปในหมู่บ้านนั้น เป็นการเข้าไปในลักษณะเตรียมการ เป็นการวางแผนเพื่อให้มีการดำเนินการ โดยศาลเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวเพื่อให้มีการขนแร่ออกไปให้ได้ในคืนนั้น ฉะนั้นศาลจึงเห็นว่า จำเลยที่ 1 อยู่ในเหตุการณ์และเป็นผู้กระทำการ ส่วนจำเลยที่ 2 มีพยานคนนอกไม่ใช่ชาวบ้าน ซึ่งเป็นคนขับรถของกลุ่มชายฉกรรจ์ได้ยืนยันในลักษณะว่า เห็นจำเลยที่ 2 ไปร่วมในการสั่งการที่ลานมันโดยจำเลยที่ 2 ก็ให้การในลักษณะตรงกันกับพยาน แต่อ้างว่า เป็นเรื่องที่ถูกหลอกให้ไป แต่ศาลเห็นว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น ศาลมองว่าเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ศาลเชื่อพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วม
จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดในฐานะเป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 และชายฉกรรจ์อื่นๆ ไปทำการเพื่อให้มีการขนแร่ได้ด้วยการทำร้ายชาวบ้าน มีการหน่วงเหนี่ยวกักขัง รวมทั้งมีการทำให้เสียทรัพย์และมีการถูกฟ้องในข้อหาเรื่องอาวุธปืนด้วยว่า ครอบครองอาวุธปืนและนำอาวุธปืนไปในที่สาธารณะ โดยศาลได้พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการ มีความผิดตามคำฟ้องทั้งหมด คือมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต มีการนำอาวุธปืนไปในที่สาธารณะ ศาลได้ลงโทษ 2 ข้อหา ข้อหาละ 6 เดือน รวมเป็น 12 เดือน และข้อหาหน่วงเหนี่ยวกักขัง ทำร้ายร่างกาย ยิงปืนในหมู่บ้าน ทำให้เสียทรัพย์ ศาลมองว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน
ศาลได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุก 2 ปี จำเลยที่ 1 รวมลงโทษ 2 ปีกับ 12 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 ศาลเห็นว่า เป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับชายฉกรรจ์ไปกระทำการดังกล่าว จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะผู้ใช้ถือว่าเป็นตัวการร่วม แต่ได้ให้การเป็นประโยชน์ศาลให้ลงโทษ 1 ปี กับ 12 เดือน นอกจากนั้น ศาลยังได้สั่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ให้จ่ายค่าเสียหายทดแทนแก่ชาวบ้านซึ่งเป็นโจทก์ทั้ง 9 ราย รวมทั้งหมด 165,600 บาท ภายใน 15 วัน