xs
xsm
sm
md
lg

3 นปช.รอดคุก ศาลไม่รับฎีกาคดียิง ฮ.ทหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

การชุมนุมของ นปช.เมื่อปี 2553
 
MGR Online - ศาลไม่รับฎีกาคดีอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง 3 แนวร่วมคนเสื้อแดงยิงปืนใส่ ฮ.ทหาร ระหว่างชุมนุมปี 53 หลังศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เหตุพยานหลักฐานยังไม่ชัด แม้ จนท. จับกุมอาวุธและเครื่องกระสุนได้จำนวนมาก แต่ไม่รายงาน ศอฉ. ทั้งไม่ได้ส่งหลักฐานสำคัญให้พนักงานสอบสวน และโจทก์ไม่มีหลักฐานจำเลยทั้งสามครอบครอบอาวุธมาก่อเหตุ

ที่ศาลจังหวัดพระโขนง ถ.สรรพาวุธ วันนี้ (14 มี.ค.) ศาลได้อ่านคำสั่งของศาลฎีกา คดี ยิง ฮ. ทหาร หมายเลขดำ อ.2702/2553 ที่พนักงานอัยการจังหวัดพระโขนง เป็นโจทก์ ฟ้อง นางนฤมล หรือ จ๋า วรุณรุ่งโรจน์ อายุ 56 ปี นายสุรชัย หรือ ปลา นิลโสภา (เสียชีวิตแล้ว) และ นายชาตรี หรือ หมู ศรีจินดา อายุ 30 ปี ทั้งสามเป็นแนวร่วม นปช.ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1 - 3 ตามลำดับ ฐานกระทำผิด พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 55, 72, 78 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 265, 268 โดยจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม

อัยการโจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2553 เวลากลางวัน ขณะที่เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มแนวร่วม นปช. กับเจ้าหน้าที่รัฐ จำเลยทั้งสามร่วมกันครอบครองอาวุธปืนกลเล็ก (เอเค 47) จำนวน 5 กระบอก ปืน เอ็ม 16 อีก 1 กระบอก ปืนคาร์บิน จำนวน 1 กระบอก ซองกระสุนปืน 17 อัน ลูกระเบิดขว้างชนิดสังหารจำนวน 8 ลูก ระเบิดเอ็ม 79 จำนวน 4 นัด ระเบิดแก๊สน้ำตาจำนวน 3 ลูก พร้อมเครื่องกระสุนปืนจำนวนมาก ระเบิดแสวงเครื่องประกอบเอง 10 ลูก ขวดเครื่องดื่มชูกำลังบรรจุน้ำมันเบนซินประกอบเป็นระเบิดเพลิง 102 ขวด นอกจากนี้ ในวันที่ 10 เม.ย. 2553 จำเลยที่ 2 ได้ปลอมและใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถปลอม ต่อมาเจ้าหน้าที่ติดตามจับกุมจำเลยทั้งสามได้พร้อมของกลางที่ บ้านเลขที่ 231 ซอยอ่อนนุช 17 แยก 3 แขวงและเขตสวนหลวง กทม. จำเลยให้การปฏิเสธ

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2554 พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า แม้เจ้าพนักงานชุดจับกุมจะพบของกลางในบ้านที่เกิดเหตุก็ตาม แต่กลับไม่ปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงเรื่องการจับกุมดังกล่าวรายงานกลับไปยังกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) อีกทั้งหมายคำสั่งค้นก็ไม่ได้ระบุรายละเอียด ว่า ยึดสิ่งของใด อีกทั้งขณะตรวจค้นมีการถ่ายภาพปืนกลเล็กที่ซ่อนไว้ในถุงกอล์ฟ ที่ตรวจพบจากท่อระบายน้ำไว้กว่า 20 ภาพ แต่กลับไม่มีภาพดังกล่าวส่งให้พนักงานสอบสวน และไม่มีถุงกอล์ฟหรือถุงดำ ซึ่งเป็นพยานหลักฐานสำคัญ จึงให้สงสัยว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่ไม่ส่งหลักฐานดังกล่าวให้พนักงานสอบสวนใช้ประกอบคดี อันเป็นข้อพิรุธ ทั้งจำเลยทั้งสาม ให้การปฏิเสธมาตลอด มีเหตุสงสัยตามสมควร ส่วนที่โจทก์มีพยานอ้างว่า เห็นจำเลยทั้งสาม ใช้อาวุธสงครามยิงใส่เฮลิคอปเตอร์ของเจ้าหน้าที่ระหว่างการชุมนุมนั้น แต่โจทก์กลับไม่มีหลักฐานว่า จำเลยทั้งสามครอบครองอาวุธปืนมา แสดง พยานหลักฐานโจทก์ยังมีข้อพิรุธสงสัย ว่า จำเลยทั้งสามกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยแก่จำเลยทั้งสาม พิพากษายกฟ้อง แต่ให้ขังจำเลยไว้ระหว่างอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนให้ยกฟ้องพวกจำเลย

อัยการโจทก์ยื่นฎีกา ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษพวกจำเลยด้วย

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งไม่ได้ทำให้ผลคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์ ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ภายหลัง นายอาคม รัตนพจนารถ ทนายความจำเลย เปิดเผยว่า เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับฎีกาของอัยการโจทก์ ถือว่า คดีนี้จบแล้วให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เพราะทั้งศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ พิพากษายกฟ้องตามข้อเท็จจริงและคงไม่ฟ้องกลับเจ้าหน้าที่รัฐ

อนึ่ง ระหว่างปฏิบัติการขอคืนพื้นที่จากการชุมนุมคนเสื้อแดงบริเวณถนนราชนำเนินนอกต่อเนื่องไปถึงถนนราชดำเนินกลาง เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 คนร้ายใช้อาวุธปืนยิงเฮลิคอปเตอร์บริเวณจุดปะทะการชุมนุม เป็นเหตุให้ พ.อ.มานะ ปริญญาศิริ ได้รับบาดเจ็บ จากการสืบสวนตลอดมา โดยการนำของ พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และชุดปฏิบัติการพิเศษ ซึ่งประกอบด้วย ทหาร และตำรวจของ ศอฉ. ทำให้สามารถจับกุมกลุ่มผู้ต้องหาได้จำนวนหนึ่ง และทำการสืบสวนขยายผลจนกระทั่งสามารถทำการตรวจค้นและยึดของกลางตามรายการดังกล่าวได้เป็นจำนวนมากข้างต้น เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2553
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น